นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งพยานหลักฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ปมถือหุ้นบมจ.ไอทีวี จะส่งผลกระทบต่อการโหวตนายกฯ ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค.นี้หรือไม่ว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการโหวตเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา อำนาจนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาต้องเลือกนายกฯ จากผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาที่นายพิธา ถูกกล่าวหาอยู่ คือ มีคุณสมบัติ ณ วันที่จะโหวตเลือกหรือไม่
ฉะนั้น กกต. ถือเป็นหน่วยงานกลั่นกรองเบื้องต้น เหมือนพนักงานสอบสวนในคดีอาญา แต่คดีในรัฐธรรมนูญ เมื่อ กกต.รับเรื่องแล้ว ก็ควรจะตรวจหลักฐานว่าครบองค์ประกอบหรือไม่ ข้อกล่าวหามีพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่เท่านั้นเอง ดังนั้นหน้าที่ของ กกต.คือต้องรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนคิดว่าเป็นเรื่องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย นายพิธา จะถูกหรือผิด จะมีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามหรือไม่ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้
“การที่กกต.เอาเรื่องมากอดไว้ ตรงนี้ต้องพิจารณา และทำให้เร็ว เพราะไม่อย่างนั้น เมื่อเปิดการประชุมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค. ที่มีวาระโหวตเลือกนายกฯ ผมคิดว่าจะทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพราะจะมีคนยกมาตรา 272 ไปโยงกับมาตรา 160 และมาตรา 98 ซึ่งจะบ่งชี้ว่าเวลานี้ ข้อยุติคืออะไร สำหรับคนที่เลือก ถ้าเลือกไปอาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับโครงสร้างของคดีที่บอกว่า ถ้ารู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ เรายังจะไปสมัคร ตรงนี้ก็มีความผิด มีโทษ ทำนองเดียวกัน ถ้านายพิธา ไม่มีหรือขาดคุณสมบัติ เรายังไปเลือก ก็อาจจะผิดรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงมีโทษทางอาญาด้วย ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่”
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
พร้อมระบุด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้ว ต้องสั่งเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เช่น ถ้ามีการกล่าวหาว่ามีลักษณะต้องห้าม เป็นส.ส.ไม่ได้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ศาลจะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการร้องว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งการขาดคุณสมบัติ จะมีผลย้อนไปถึงวันเลือกตั้ง ฉะนั้นวิธีการของศาลฯจะต้องให้หยุดไว้ก่อนชั่วคราว ถ้าผลออกมาชนะก็ทำงานต่อได้ แต่ถ้าแพ้ การเป็นส.ส.จากการได้รับเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาจะเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงกระบวนการไปสู่นายกฯ ก็เป็นโมฆะด้วย เช่นเดียวกับกรณีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งแนวทางการพิจารณาของศาลฯ ก็เป็นไปไปแนวทางเดียวกัน
ส่วนการที่นายพิธา ถูกยื่นตีความจะมีผลต่อการพิจารณาของส.ว.หลายคนหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่มีผลต่อการพิจารณาของส.ว. แต่มีผลต่อการพิจารณาทั้งสภาฯ เพราะประเด็นนี้จะมีคนยกขึ้นมาได้ว่า มาตรา 272 ห้ามเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม ถ้า ส.ส. ส.ว.ไปเลือก ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ จะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ และต้องรับโทษเสียเอง
ส่วนจะทำให้สถานการณ์ของรัฐสภาตึงเครียดหรือไม่นั้น คงเป็นไปตามกลไกกฎหมายที่ต้องเคารพ ขณะที่องค์กรใดที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาก็ต้องทำให้กระจ่าง ไม่มีเงื่อนตาย
ส่วนที่ขณะนี้ นายพิธา ถูกยื่นตีความเรื่องคุณสมบัติสมาชิกภาพ ส.ส. ยังยืนยันที่จะโหวตให้เหมือนเดิมหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตนเคยประกาศบันได 3 ขั้นไว้ คือ 1. ส.ส.รวมกันเป็นเสียงข้างมาก ในเมื่อสภาฯ มีหน้าที่เลือกรัฐบาล เราควรสนับสนุน 2.ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีการร้องกล่าวโทษนายพิธา ถ้านายพิธา ไม่ผ่านคุณสมบัติ ตนก็เลือกไม่ได้ เพราะสุ่มเสี่ยงจะทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ถือเป็นประเด็นสำคัญ 3. อาจไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่
ส่วนจะต้องมีการเลื่อนโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐสภา และสมาชิกทั้ง 750 คน จะเห็นประเด็นว่าถ้าเราเลือกแล้วไม่มีปัญหาทั้งสภาฯ ก็เดินต่อไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเลือกแล้วมีปัญหา ก็สามารถใช้มติของรัฐสภาในการเลื่อนได้ ถ้ามีเหตุผลจำเป็นเหมาะสม เพื่อประโยชน์การทำงานของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 66)
Tags: การเมือง, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ส.ว., โหวตนายก