สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานสถานการณ์ตลาดยานยนต์ในประเทศไทย โดยระบุว่าบรรดาบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน อาทิ บีวายดี (BYD) และเกรท วอลล์ มอเตอร์ (GWM) เข้ามาลงทุนในไทยสูงถึง 1.44 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2563 และกำลังคุกคามสถานะเจ้าตลาดอย่างบริษัทยานยนต์จากญี่ปุ่น
หลังจากวิกฤตยอดขายในจีน ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นก็กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ในไทย อันเป็นตลาดสำคัญอีกแห่งในเอเชีย เนื่องจากแนวทางการพัฒนารถ EV ที่ล่าช้าตามหลังประเทศอื่น ๆ ขณะที่กระแสรถยนต์จีนปรากฏชัดในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยแล้ว เนื่องจากผู้ผลิตรถ EV จีนกำลังนำซัพพลายเออร์เข้ามาในประเทศ
ขณะเดียวกัน บริษัทไทย เช่น สยามกลการ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันยาวนานกับบริษัทญี่ปุ่น ก็กำลังแสวงหาพันธมิตรใหม่ ๆ โดยนายเซบาสเตียน ดูปุย รองประธานของสยามกลการ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังหารือกับผู้ผลิตรถยนต์จีนหลายรายเกี่ยวกับความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์
อนึ่ง ประเทศไทยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตลาดขายรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นครองตลาดในไทยมาเป็นเวลาหลายทศวรรษจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนขยายหนึ่งของตลาดญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม จีนแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนของ BYD ในโรงงานแห่งใหม่ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการในปี 2567 ท่ามกลางความพยายามของทางการไทยในการดึงดูดผู้ผลิต EV ของจีนให้มาลงทุน
ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนเพิ่มการส่งออกและตั้งศูนย์การผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากตลาดรถ EV ที่มีการแข่งขันสูงในจีน สถานการณ์ของไทยจึงจะกลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่น ๆ ว่ารับมือกับการเปลี่ยนผ่านมาเป็นฐานการผลิตรถ EV ได้อย่างไรบ้าง
ข้อมูลของรัฐบาลไทยระบุว่า จากจำนวนรถยนต์ใหม่เกือบ 850,000 คันที่จดทะเบียนในไทยเมื่อปีที่แล้ว มีเพียงประมาณ 1% เท่านั้นที่เป็นรถ EV อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงเม.ย.ของปีนี้ สัดส่วนของรถ EV เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 6%
ผู้นำตลาดรถ EV ของไทยขณะนี้คือ BYD ตามมาด้วยเอสเอไอซี (SAIC), โฮซอน (Hozon) ของจีน และเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐ ข้อมูลการลงทะเบียนระบุว่าในช่วงเดือนม.ค.ถึงเม.ย. มีการจำหน่ายรถ EV ทั้งหมด 18,481 คันในไทย ในจำนวนนี้ มากกว่า 7,300 คันเป็นรถ BYD
ด้านโตโยต้า ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นเจ้าตลาดในไทย ร่วมกับพันธมิตรอย่าง อีซูซุและฮอนด้า มีสัดส่วนเกือบ 70% ของยอดขายรถยนต์และรถบรรทุกทั้งหมดในไทยเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ โตโยต้ามีรถ EV ที่จดทะเบียนใหม่เพียง 11 คันเท่านั้น
นายฮาจิเมะ ยามาโมโตะ หัวหน้าแผนกที่ปรึกษาของสถาบันวิจัยโนมูระในประเทศไทย กล่าวว่า แบรนด์รถยนต์จีนมีศักยภาพในการแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างน้อย 15 จุดเปอร์เซ็นต์ในทศวรรษหน้า ด้วยการส่งมอบรถ EV ราคาย่อมเยา
“ญี่ปุ่นทำได้แค่เจาะตลาดกลุ่มพรีเมียมได้เพียงบางส่วนเท่านั้น” นายยามาโมโตะกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 66)
Tags: EV, จีน, ญี่ปุ่น, ตลาดยานยนต์, รถยนต์ไฟฟ้า