นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ความล่าช้าในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี หลังทราบผลการเลือกตั้งมาเป็นเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาคการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้นักลงทุนและประชาคมโลกเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย จากระบอบสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร (คสช.) นั้นมีอุปสรรคและมีความไม่ปกติอยู่ ทำให้นักลงทุนสถาบันตั้งคำถามต่อมาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยไทย และตั้งข้อสงสัยต่อรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุด ว่าเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่
ฉะนั้น สมาชิกรัฐสภาจึงควรร่วมมือกันในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ภายใต้เจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากเดือนสิงหาคม ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารประเทศได้ จะกระทบต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชน ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเกิดความล่าช้าในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ตามที่ 8 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านสวัสดิการ ที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ การเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และการปะทุขึ้นของปัญหาหนี้สินในภาคธุรกิจ การขาดสภาพคล่องของกิจการต่างๆ ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มศักยภาพ
นายอนุสรณ์ เห็นว่า หากจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปลายเดือนกรกฎาคม งบประมาณปี 2567 อาจจะล่าช้าไป 2-3 เดือน แต่ยังไม่กระทบเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากนัก แต่หากการจัดตั้งยืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายน หรือตุลาคม จะทำให้มีรัฐบาลรักษาการที่ไม่มีอำนาจเต็มบริหารประเทศนานถึง 6-7 เดือน โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีผลผูกพันงบประมาณหลายปี จะไม่สามารถดำเนินการได้เลย
“โครงการหลายส่วนอาจต้องชะลอออกไป ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน คุณสมบัติและความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน” นายอนุสรณ์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 66)
Tags: รัฐบาล, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย