นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ในเดือนมกราคม-เมษายน ของปี 2566 มีมูลค่ารวม 1,150.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 53.52% โดยตลาดที่ไทยมีการใช้สิทธิ GSP ส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 1,064.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 92.52% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ GSP
สำหรับการใช้สิทธิ GSP ในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยถึงแม้สินค้าที่ครองแชมป์อันดับ 1 ยังคงเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ แต่สินค้าที่มีความโดดเด่นและมีอัตราการเติบโตได้ดีจากการเปิดประเทศในหลายๆ ภูมิภาคหลังจากการฟื้นตัวโควิด-19 ทำให้การเดินทางออกนอกประเทศกลับมาคึกคักมากขึ้น คือ สินค้ากลุ่มกระเป๋า โดยเฉพาะกระเป๋าเดินทาง รวมถึงกระเป๋าต่างๆ เช่น กระเป๋านักบริหาร กระเป๋าเอกสาร กระเป๋านักเรียน เป็นต้น
“สินค้ากระเป๋า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 40.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มสูง 48.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสหรัฐฯ มีการนำเข้ากระเป๋าจากไทย มากเป็นลำดับที่ 2 รองจากจีน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 15.10% ของการนำเข้ากระเป๋าจากทั่วโลก” นายรณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ การนำเข้าโดยใช้สิทธิ GSP ทำให้ไทยได้รับการลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิมที่ต้องเสียภาษี 20% (MFN Rate) ลดเหลือ 0% นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ สูง อาทิ อาหารปรุงแต่ง กรดมะนาว หรือกรดซิทริก เลนส์แว่นตา และถุงมือยาง เป็นต้น
สำหรับโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ที่สินค้ามีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ (สวิตเซอร์แลนด์) หน้าปัดนาฬิกาชนิดคล็อกหรือวอตซ์ (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) และสูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) อาหารปรุงแต่ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด (นอร์เวย์) เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 66)
Tags: GSP, รณรงค์ พูลพิพัฒน์, ส่งออกกระเป๋า, สหรัฐ