แกนนำก้าวไกล เร่งเดินสายทำความเข้าใจ ส.ว. เชื่อโหวตนายกฯ ม้วนเดียวจบ

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยืนยันว่า แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ที่จะเสนอให้ที่ประชุมลงมติมีคนเดียว อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้เสียง ส.ว.มาโหวตอีกหรือไม่ เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ออกมาพูดความเห็นของตัวเอง มีเพียงส่วนน้อยที่ออกมาให้ความเห็น แต่ก็เชื่อมั่นว่าเสียง ส.ว.ที่ยังเงียบอยู่จะเป็นเสียงที่เปิดโอกาสคืนความปกติให้กับระบบการเมืองไทยให้เดินหน้าไปด้วยกัน

นายชัยธวัช ขออย่าเพิ่งประเมินสถานการณ์จากสิ่งที่เห็น เพราะสิ่งที่เป็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้ อีกทั้งยังมั่นใจว่าการไปเจรจากับ ส.ว.จะทำให้ผ่านไปได้ด้วยดี และมั่นใจในวิจารณญาณของ ส.ว.ส่วนใหญ่อยากเห็นประเทศชาติเดินหน้า และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนได้แสดงออกว่าต้องการคืนความปกติให้กับระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งตนยังเชื่อมั่นใน ส.ว.จำนวนมากที่จะให้โอกาสนี้กับประเทศไทย

เมื่อถามว่า ส.ว.สายทหาร จะไม่มีการโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าเพิ่งดูถูกอาชีพทหาร เพราะทหารจำนวนมากมีความหวังดีต่อประเทศชาติ ซึ่งตนได้มีโอกาสไปพูดคุยและอธิบายเหตุผลให้ได้รับฟัง ซึ่งทำทุกวัน ทั้งทหาร พลเรือน ตำรวจ และข้าราชการ ทำเต็มที่ที่สุดจนถึงวันสุดท้าย โดยยืนยันว่ายังมีแสงสว่างในเรื่องนี้ ชีวิตต้องมีความหวัง

ทั้งนี้ มั่นใจว่า จะอธิบายเหตุผลในการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ให้ ส.ว.มีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งต้องทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่เหลือ ซึ่งในสัปดาห์หน้านายพิธาและแกนนำพรรคจะไปพูดคุยกับสังคมและประชาชน ซึ่งจะได้สะท้อนผ่านไปยัง ส.ว.ด้วย

แต่วันนี้จะมีการหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดทนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อว่าก่อนโหวตควรจะมีเวลาและกระบวนการแสดงวิสัยทัศน์อย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายหรือซักถามอย่างเต็มที่ เพื่อให้โอกาสแคนดิเดทนายกฯ ทุกคนที่ถูกเสนอรายชื่อขึ้นมาได้ตอบคำถาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนลงมติ

ส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่าการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก นายพิธาอาจจะไม่ผ่านนั้น นายชัยธวัช ระบุว่า หากวันที่ 13 ก.ค.66 ยังไม่ผ่านการคัดเลือกก็อาจต้องเสนอชื่อซ้ำในวันที่ 19 ก.ค.66 โดยจะไม่มีการเสนอครั้งเดียวแน่นอน แต่ยังเชื่อว่าน่าจะจบในครั้งเดียว

นอกจากนี้ ไม่กังวลหากจะมีการเสนอรายชื่อแคนดิเดทนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่นขึ้นมาแข่ง เพราะถือเป็นเรื่องปกติในระบบรัฐสภา ที่ฝั่งเสียงข้างน้อยจะเสนอขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่เชื่อว่า ส.ว.จะสนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย ขออย่าพึ่งสรุปว่าต้องโหวตกี่ครั้งถึงจะได้นายกฯ โดยขอให้ดูจากสถานการณ์ที่เป็นจริง เพราะมีหลายปัจจัย

สำหรับกรณีที่จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมออกมากดดันในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น ไม่ทราบว่าจะมีกลุ่มใดออกมาทำอะไรบ้าง แต่การออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองก็ไม่อยากให้มีความรุนแรง ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะประธานสภาได้ให้นโยบายไว้พอสมควร

หากนายพิธาไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ถึง 2 ครั้งแล้วอาจมีการแสดงความเห็นในโลกโซเชียลนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนตอบแทนประชาชนทั้งหมดไม่ได้ และอย่าเพิ่งไปคิด แต่อยากให้มองว่าอาจได้เฉลิมฉลองกันในช่วงเย็นวันที่ 13 ก.ค.66 หากการโหวตเลือกนายกฯ เนิ่นนานเกินไปอาจส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ล่าช้า เพราะจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. และการพิจารณางบประมาณปี 67 รวมถึงนโยบายเร่งด่วน อาทิ ภัยแล้ง เศรษฐกิจที่นักลงทุนชะลอการลงทุนเพราะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย ซึ่งจะกระทบไปหมด ดังนั้นถ้าเรื่องจบเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี และเป็นการจบแบบเคารพผลการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top