สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยเผย 4 เทรนด์การตลาดมาแรง “รู้ใจ เชื่อมโลก จริงใจ พร้อมปรับ” อีกทั้งยังแนะกลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของการตลาด รวมทั้ง “PILOT” คุณสมบัติในการ “มุ่งหน้า ลงลึก มองยาว เปิดรับ ทันที” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจที่ผู้ให้บริการและนักการตลาดควรจะมี ในงานแถลงข่าว “Marketing Trends เทรนด์การตลาด ครึ่งปีหลัง 2023 ที่น่าจับตามอง และทิศทางการพัฒนาการตลาดไทย”
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผย 4 เทรนด์การตลาดที่จะมีบทบาทสำคัญในปีนี้ โดยเริ่มต้นที่ 1. Personalized Marketing การตลาดรู้ใจ ด้วยการทำความเข้าใจ และเจาะไปถึงความต้องการเฉพาะบุคคล เนื่องจากพฤติกรรม ความต้องการ และความคาดหวังของผู้บริโภคในยุคหลังโควิด-19 ระบาด มีความซับซ้อนมากขึ้น ความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลมีความสำคัญมากขึ้น ธุรกิจสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน และพิจารณาว่าจะสามารถนำความต้องการเหล่านั้นมาสร้างและพัฒนาสินค้าได้อย่างไร
สำหรับเทรนด์ที่ 2 คือ Marketing on Multiverse การตลาดเชื่อมโลก หรือการทำการตลาดไปพร้อมๆ กันทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงช่องทางเดียว โดยเทรนด์ที่ 2 นี้ ผศ. ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายก ฝ่ายกิจกรรมการสื่อสารและการตลาดยั่งยืน ได้ยกตัวอย่างการเชื่อมโยงดังกล่าวกับเลือกซื้อลิปสติกว่า ผู้บริโภคสามารถทดสอบสินค้าภายในร้านและสั่งซื้อสินค้าได้ผ่านทางหน้าจออัจฉริยะ ในขณะที่นำใบเสร็จจากการสั่งซื้อนั้นไปชำระเงินที่เคาน์เตอร์ ทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับประสบการณ์จากทั้งสองโลกราวกับเป็นหนึ่งเดียวกัน
3. Real Marketing การตลาดจริงใจ มีลักษณะเป็นแบบเรียลไทม์ (Real Time) ที่เกิดขึ้นทันที Real Product (มีสินค้าจริง) และ Real Experience (มอบประสบการณ์ให้ลูกค้าได้จริง) ซึ่งการมอบความจริงใจให้กับลูกค้าผ่านความ “Real” จะสามารถสร้างผลกระทบต่อแบรนด์ได้อย่างมั่นคงมากกว่าการถูกบอกต่อเป็นกระแสเพียงอย่างเดียว การตลาดจริงใจจึงเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ
และ 4. Dynamic Brand การตลาดพร้อมปรับ เนื่องจากผู้บริโภคกำลังมองหาคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ หากแบรนด์ใดนิ่งเฉยไม่ปรับตัวต่อกระแสที่เปลี่ยนไป ก็มีโอกาสที่จะถูกกลืนหายไป ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นการทำงานร่วมกันของธุรกิจที่มีอายุเป็นร้อยปีและธุรกิจน้องใหม่ที่มีอายุเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น สรุปแล้วแบรนด์จึงต้องรู้จักปรับตัวอยู่เสมอ
ในการรับมือกับ 4 เทรนด์การตลาดเหล่านี้ ดร.บุรณิน ได้เสนอ 4 กลยุทธ์ที่ผู้บริหารสามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้องค์กรดำเนินต่อได้อย่างลื่นไหลในยุคที่เต็มไปด้วยการ Disrupt ได้แก่ 1) Customer Empowerment คือ การเปิดทางให้ลูกค้าเป็นผู้กำหนดทิศทางโดยยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการที่ซับซ้อนขึ้นของลูกค้าได้ โดยความคิดเห็นของกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นฐานลูกค้าของเรานั้น จะช่วยออกแบบแนวทางการพัฒนาสินค้าและชี้ทางให้กับนักการตลาดได้ในที่สุด
2) Applying Data Analytics and Machine Learning รู้จักนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะข้อมูล (Data) มาช่วยสร้างประโยชน์ในด้านการตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการทำงาน
3) Accelerating Personalized Marketing at Scale ใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลที่ได้รับจากการนำเทคโนโลยีมาช่วย กำหนดขอบเขตเพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าในวงกว้างเท่าที่จะทำได้ สุดท้ายคือ
4) Building Ecosystems สร้างระบบนิเวศน์หรือ Ecosystems ขององค์กรขึ้นมา โดยเฉพาะในยุคนี้ทำการตลาดผ่านหลากหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นักการตลาดจึงไม่เพียงแค่สร้างแบรนด์หรือสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสร้างพันธมิตรกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystems ที่ทรงพลัง กล่าวโดยสรุปทั้ง 4 กลยุทธ์คือ นักการตลาดต้อง “ฉลาด ว่องไว เข้าใจการแตกต่าง และมีพันธมิตร”
ดร.บุรณิน กล่าวด้วยว่า เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากยุค Modern Marketing สู่ Post-Modern Marketing ในยุคที่เปี่ยมไปด้วยคอนเทนต์ที่ผ่านการทำให้เข้ากับเฉพาะบุคคล (Personalized) และอธิบายด้วยว่า สำหรับยุคปัจจุบันนี้จะกลายเป็นยุคของ Post-Modern Marketing ซึ่งความจริงที่ลูกค้ารับรู้ กับสิ่งที่เป็นจริง อาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โดย “ความจริง” จะขึ้นอยู่กับบริบทและการเล่าเรื่องที่แต่ละคนได้รับสาร
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจะเหมาะกับการทำการตลาดแบบเจาะจงบุคคล (Individual) แต่การทำตลาดแบบนี้ก็มีข้อเสียตามมาคือการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แคบเกินไปจะลดโอกาสการดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคแบบจำนวนมาก (Mass) โดยเฉพาะการดึงฐานผู้บริโภคให้ครอบคลุมกลุ่มหลายช่วงวัย
ผศ. ดร. เอกก์ ช่วยเสริมเกี่ยวกับความแตกต่างของคนต่างรุ่นว่า เป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับนักการตลาด เราจะสามารถเชื่อมโยงให้ผู้คนต่างช่วงวัยเกิดความสนใจร่วมกันและเปลี่ยนให้พวกเขากลายมาเป็นผู้ซื้อได้อย่างไร แม้ในปัจจุบัน เพียงแค่อยู่กันคนละช่วงวัย ก็ทำให้มีความแตกต่างกันตั้งแต่ชุดความคิดในการมองโลกอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้นักการตลาดยุคใหม่ควรจะรู้และเข้าใจคุณลักษณะของกลุ่มคนต่างช่วงวัย ต้องรู้จักปรับตัวผ่าน 5 มิติการตลาดใหม่ ที่มีชื่อเรียกแบบย่อว่า PILOT ซึ่งประกอบด้วย P (Pioneer) มุ่งไปข้างหน้าและปรับตัวอยู่เสมอ I (Insights) เข้าใจอย่างรู้ลึก L (Long-term) มองการณ์ไกลถึงผลลัพธ์ในระยะยาว O (Open) เปิดรับสิ่งใหม่ และ T (Timeliness) ตัดสินใจทำทันที
การที่จะทำให้ผู้บริหารสามารถบรรลุ PILOT ได้นั้น จำเป็นจะต้องทำผ่านการ “Reframe” หรือปรับมุมมองความคิดให้เท่าทันยุคสมัยใหม่ และ “Reform” ปฏิรูปความคิดตนเองด้วยสิ่งใหม่
ด้วยเหตุนี้ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยจึงได้เปิดตัวหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร เบิกทางให้ผู้บริหารสามารถ Reframe ตนเองได้ผ่านหลักสูตร “XYZ : Experience Your Zero” ที่จะพาผู้บริหารไปแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนต่างวัย โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ระยะเวลาหลักสูตรระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 20 กันยายน 2566 และหลักสูตร “MORPH : Visionary Re-Defined” ช่วยพาผู้บริหารไปสู่การ Reform การทำการตลาดอย่างมี Growth Mindset ระยะเวลาหลักสูตรระหว่างวันที่ 8 กันยายน – 3 พฤศจิกายน 2566
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 66)
Tags: SCOOP, การตลาด, บุรณิน รัตนสมบัติ, สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย