ผลการศึกษาใหม่ชี้ การมีน้ำหนักเกินอาจไม่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานผลการศึกษาใหม่พบว่า การมีน้ำหนักเกินตามที่กำหนดโดยดัชนีมวลกาย (BMI) อาจไม่เชื่อมโยงกับโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อพิจารณาแยกจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

ค่า BMI เป็นวิธีการวัดไขมันในร่างกายตามส่วนสูงและน้ำหนักของบุคคล โดยจัดกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามไขมันในร่างกาย ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐกำหนดให้ผู้ใหญ่ “มีน้ำหนักเกิน” (overweight) หากค่า BMI อยู่ระหว่าง 25-29.9 ในขณะเดียวกัน ค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจะถือว่า “อ้วนเกิน” (obese)

ดร. อยุช วิซาเรีย ผู้เขียนอันดับแรกของการศึกษาดังกล่าว ซึ่งเป็นแพทย์ประจำสาขาอายุรศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์โรเบิร์ต วูด จอห์นสัน แห่งมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ในเมืองนิวบรันสวิก รัฐนิวเจอร์ซีย์ กล่าวว่า “สาระที่แท้จริงของการศึกษานี้คือ การมีน้ำหนักตัวเกินโดยนิยามตามค่า BMI นั้น ไม่ดีพอจะใช้บ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการเสียชีวิต และค่า BMI โดยทั่ว ๆ ไปก็ไม่ดีพอจะใช้บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ และควรใช้ข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ มาประกอบด้วย เช่น รอบเอว การวัดไขมันในรูปแบบอื่น ๆ และรูปแบบน้ำหนัก”

ในการศึกษาดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE เมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากชาวอเมริกันที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี จำนวน 554,000 คน จากแบบสำรวจสัมภาษณ์สุขภาพแห่งชาติปี 2542-2561 และดัชนีการเสียชีวิตแห่งชาติของสหรัฐปี 2562 จากนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบกับระดับ BMI กับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ดำเนินการโดยดร. วิซาเรียและผู้เขียนร่วม ดร. โซโกะ เซโตกุจิ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และระบาดวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์โรเบิร์ต วูด จอห์นสัน และคณะสาธารณสุขรัตเกอร์ส แห่งมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส

ผลการศึกษาระบุว่า ความเสี่ยงของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18%-108% สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีค่า BMI สูงกว่า 27.5 โดยความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นกราฟเส้นโค้งรูปตัวยู อย่างไรก็ตาม ไม่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีค่า BMI ระหว่าง 22.5-34.9 ซึ่งเป็นช่วงที่รวมทั้งน้ำหนักปกติ น้ำหนักเกิน ไปจนถึงภาวะอ้วน

ดร. วิซาเรียกล่าวว่า การค้นพบที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่มีอายุ 20-65 ปีที่มีค่า BMI ระหว่าง 24.5-27.5 ซึ่งเป็นระดับล่างสุดของช่วงน้ำหนักเกินนั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ดร. วิซาเรียระบุถึงข้อจำกัดของการศึกษาครั้งนี้ว่า แม้ว่าการศึกษาจะมีการควบคุมตัวแปรการสูบบุหรี่และโรคอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกรวบรวมเพียงครั้งเดียวสำหรับแต่ละคนในการสำรวจ ดังนั้น การศึกษาจึงไม่สามารถติดตามได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มีภาวะอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตในภายหลังหรือไม่

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top