เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ความเห็นเกี่ยวกับธนาคารและดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารต่าง ๆ ในประเทศไทยของนักการเมืองท่านหนึ่งว่าการแก้ปัญหาดอกเบี้ยเงินกู้สูงนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปิดหรือให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเพิ่มเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจนำไปสู่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ในที่สุด ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ใช้นักการเงินหรือนักเศรษฐศาสตร์จึงไม่อาจให้ความเห็นทางวิชาการหรือหลักการดังกล่าวได้ว่าสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้หรือไม่
แต่ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกถึงระบบการกู้ยืมเงินยุคใหม่ที่ไม่ต้องง้อตัวกลางหรือธนาคาร คือ P2P Lending หรือ Peer-to-Peer Lending
P2P Lending คือ การกู้ยืมเงิน (รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล) ระหว่างบุคคลต่อบุคคลโดยผ่านระบบออนไลน์ และไม่ผ่านตัวกลาง คล้ายกับตลาดที่มีสินค้า คือ “สินเชื่อ” วางจำหน่าย ระบบดังกล่าวผู้กู้สามารถมีช่องทางการกู้เงินที่ได้ดอกเบี้ยถูกลง และผู้ให้กู้ก็มีช่องทางการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อหรือเงินกู้ของกลุ่มคนที่สถาบันการเงินรูปแบบดั้งเดิมนั้นไม่ปล่อยกู้
กลไกของ P2P Lending จะกำจัดระบบตัวกลางทางการเงินแทบจะทั้งหมดโดยใช้ระบบออนไลน์ในการจับคู่ (Matching) ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยผู้ให้กู้ต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ให้กู้ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเพราะไม่มีการจัดเครดิตเรตติ้งมีเพียงการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้ และประเมินความเหมาะสมของผู้ให้กู้ รวมทั้งทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) ของทั้งสองฝ่ายเพียงเท่านั้น
ผู้เขียนมองว่าประเด็นที่ถูกวิพากษ์ดังกล่าวอาจอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อขจัดหรือลดปัญหาดังกล่าวแทนการเปิดธนาคารเพิ่มเติม ซึ่งธุรกิจธนาคารมีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจการเงินระดับประเทศ
ในปัจจุบันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer to Peer Lending Platform) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หมายความว่าการกู้ยืมแบบบุคคลต่อบุคคลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นธุรกรรมที่กฎหมายรองรับแล้วในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับความนิยมและแพร่หลายเท่าที่ควร ดังนั้น การหยิบเอา P2P Lending มาศึกษาและพัฒนาการกำกับดูแลเพื่อให้ได้ผู้ประกอบการระบบออนไลน์ที่ดี มีการปล่อยกู้อย่างมืออาชีพและมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 66)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, P2P, P2P Lending, SCOOP, คริปโทเคอร์เรนซี, ดอกเบี้ยเงินกู้, ธนาคาร, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สินทรัพย์ดิจิทัล