ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวและน้ำตาลรายใหญ่ของโลก กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงและมีความเป็นไปได้ภัยแล้งนี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำตาลและข้าวในตลาดโลกด้วย ขณะเดียวกันมีรายงานว่ารัฐบาลไทยกำลังเตรียมแผนรับมือกับปัญหาดังกล่าว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยซึ่งระบุว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วประเทศในฤดูมรสมปีนี้ อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากถึง 10% และคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมกับเตือนว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เป็นต้นไป
ปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มยืดเยื้อเช่นนี้ ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐบาลไทยออกมาเรียกร้องให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวเพียงปีละ 1 ครั้งเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลในไทยคาดการณ์ว่าผลผลิตในฤดูกาลนี้จะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยพุ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนผักผลไม้ อาหารสด และเนื้อสัตว์ ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากผลผลิตที่ลดน้อยลงและต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นด้วย
รายงานระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำการร่างแผนสำรองฉุกเฉินเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ ขณะที่ข้อมูลบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาทั่วประเทศนั้น อยู่ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 28%
ไทยพยายามหาแนวทางที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หลังเศรษฐกิจถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุดของไทย ขณะที่ปัญหาภัยแล้งอันยาวนานอาจจะขัดขวางความพยายามของรัฐบาลไทยในการควบคุมเงินเฟ้อ โดยไทยเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วในปีนี้
อูเบน พาราคูลเลส นักวิเคราะห์จากบริษัทโนมูระ โฮลดิงส์แสดงความเห็นว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ ไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารรายใหญ่ โดยผลผลิตที่ได้นั้นมีการบริโภคภายในประเทศเพียงครึ่งเดียว ดังนั้นรัฐบาลควรใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อจะลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในระยะใกล้ ควบคู่ไปกับการควบคุมราคาและใช้นโยบายอุดหนุนในด้านต่าง ๆ
“หากปรากฏการณ์เอลนีโญสร้างผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ก็อาจจะทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยลดลง 0.2% ในปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะผลผลิตข้าว” พาราคูลเลสกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในไทยจะส่งผลกระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลกซึ่งรวมถึงน้ำตาลและยาง และยังอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของไทยในฐานประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยรายงานระบุว่า การส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดโลกลดลงถึง 1 ใน 3 สู่ระดับ 7.6 ล้านตันในปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่เอลนีโญปรากฏขึ้น
แม้ว่าไทยเป็นผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ แต่กลุ่มบริษัทหีบอ้อยในไทยคาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลง และจะทำให้การส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกลดน้อยลงด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายพุ่งขึ้นอีก จากปัจจุบันที่ทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี
ในฤดูกาลปี 2565-2566 ไทยผลิตน้ำตาลได้ในปริมาณ 11 ล้านตัน และคาดว่าจะส่งออกไปยังต่างประเทศในอัตราส่วน 80% ของผลผลิตทั้งหมด
ฟาบริซิโอ ซาร์โคน เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการประเทศไทยของธนาคารโลกกล่าวว่า “การที่ไทยไม่มีนโยบายระยะยาวในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งนั้น จะยิ่งทำให้ผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวนในไทยยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไทยเผชิญปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ ไทยยังต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในสาธารณูปโภคทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 66)
Tags: ข้าว, ตลาดโลก, น้ำตาล, ภัยแล้ง, ส่งออกข้าว