“เมดเวเดฟ” ชี้รัสเซีย-ชาติตะวันตกอาจเผชิญหน้ายืดเยื้ออีกหลายสิบปี

นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซียได้ออกมาเตือนว่า การเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกอาจจะดำเนินไปอีกนานหลายสิบปี และความขัดแย้งกับยูเครนอาจกลายเป็นเรื่องถาวร

ทั้งนี้ นายเมดเวเดฟ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกชาติตะวันตกมองว่าเป็นผู้มีความคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ที่มีท่าทีแข็งกร้าวมากที่สุดคนหนึ่งของรัสเซีย นับตั้งแต่ที่รัสเซียได้ดำเนิน “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” กับยูเครนเมื่อปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่รัสเซียระบุว่า มุมมองของนายเมดเวเดฟสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดบางอย่างของเหล่าผู้บริหารระดับสูงของทำเนียบเครมลิน

ในบทความตอนหนึ่งของหนังสือพิมพ์รอสซีสกายา กาเซต้า (Rossiiskaya Gazeta) ของทางการรัสเซีย นายเมดเวเดฟระบุว่า ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบาในช่วงปี 2505 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกต้องระส่ำระสายจากความขัดแย้งที่เกือบนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์

นายเมดเวเดฟกล่าวว่า สงครามนิวเคลียร์มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่น่าจะมีใครเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง โดยตัวเขาได้ย้ำอยู่เสมอว่า การสนับสนุนยูเครนของชาติตะวันตกได้เพิ่มโอกาสให้เกิดความขัดแย้งทางนิวเคลียร์

นายเมดเวเดฟอ้างถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนเกี่ยวกับยูเครน ความเป็นไปของมนุษยชาติ และแนวทางการจัดระเบียบโครงสร้างโลก

นายเมดเวเดฟระบุว่า “สิ่งหนึ่งที่นักการเมืองไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตามไม่อยากจะยอมรับก็คือ โลกาวินาศในลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงแค่มีความเป็นไปได้เท่านั้น แต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นด้วย”

นักวิเคราะห์จากฝั่งตะวันตกมองว่า การชู “แสนยานุภาพอาวุธนิวเคลียร์” ของนายเมดเวเดฟ เป็นกลยุทธ์ที่ต้องการขู่ชาติตะวันตกเพื่อให้ลดการสนับสนุนยูเครนและให้หันไปพึ่งพายูเครนในการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียแทน

อย่างไรก็ตาม นานาประเทศฝั่งตะวันตก ซึ่งได้ประกาศกร้าวว่า พวกเขากำลังช่วยยูเครนป้องกันตนเองจากสงครามล่าอาณานิคมอันโหดร้าย ต่างให้คำมั่นว่า จะยืนหยัดเคียงข้างยูเครนตราบเท่าที่การสู้รบยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ สหรัฐซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและการทหารรายใหญ่ที่สุดของยูเครนระบุว่า ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการเกิดสงครามนิวเคลียร์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top