ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียรายครึ่งปีในช่วงปลายเดือนมิ.ย. โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะขยายตัวเพียง 4.9% ในปี 2566 ซึ่งลดลงจากระดับ 5.3% ในปี 2565 เนื่องจากการกลับคืนสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ภายในประเทศ หลังพุ่งทะยานขึ้นในช่วงที่เพิ่งผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมาและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
รายงานระบุว่า เงินเฟ้อของอินโดนีเซียชะลอตัวลงเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเบื้องต้น โดยได้แรงหนุนจากการราคาน้ำมันโลกที่ลดลง การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่กระเตื้องขึ้น การที่รัฐบาลอินโดนีเซียเข้ามาแทรกแซงเพื่อบรรเทาปัญหาภาวะคอขวดด้านอุปทานด้านอาหาร และค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซียที่แข็งค่าขึ้น
ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อลดน้อยลง การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุปสงค์โลกลดลง โดยเงินเฟ้อที่ลดลงจะช่วยให้สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
“ท่ามกลางความไม่แน่นอนทั่วโลก อินโดนีเซียมีการพัฒนาขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะในด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การจัดการภาคสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยการพัฒนาเหล่านี้ช่วยลดความยากจนสุดขั้วในประเทศได้” นางซาทู คาห์โคเนน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำอินโดนีเซียและติมอร์เลสเตระบุ
“การที่อินโดนีเซียจะเร่งการเติบโตและบรรลุเป้าหมายในการกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2588 ได้นั้น รัฐบาลอินโดนีเซียจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้เป็นอันดับแรก เช่น กฎหมายสำหรับภาคการเงินและใช้กฎระเบียบการค้าและธุรกิจที่เป็นมิตรต่อตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดด้านการแข่งขัน”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 66)
Tags: ธนาคารโลก, อินโดนีเซีย, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจอินโดนีเซีย