AOT เล็งเก็บค่า Transit/Transfer คาดได้ผลศึกษาสิ้นปีนี้ หวังสายการบินใช้ไทยเป็บฮับ

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างทำการศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร Transit/ Transfer ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่หากเปิดบริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ที่จะมีพื้นที่หรือโถงพักคอยผู้โดยสารเพิ่มขึ้น หรือพื้นที่ด้าน Air side มากขึ้น ก็จะสามารถรองรับผู้โดยสารต่างชาติที่เปลี่ยนเที่ยวบินเพื่อบินต่อไปยังประเทศอื่น อาทิ บินจากออสเตรเลีย โดยแวะพักที่กรุงเทพฯ และเปลี่ยนเครื่องไปยุโรปหรือดูไบ

โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาสิ้นปีนี้ ซึ่งจะมีความชัดเจนในการจัดเก็บค่าเฉลี่ยต่อหัว โดยในต่างประเทศมีการเก็บประมาณ 200-600 บาท/หัว จากนั้นก็จะเสนอต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

“ค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร Transit/Transfer จะไม่เก็บกับผู้โดยสารไทย แต่จะเก็บกับกลุ่มผู้โดยสารที่มาใช้ Facility ในสนามบินเพื่อบินต่อไปอีกประเทศหนึ่ง ที่ผ่านมาเราไม่ได้อะไรเลยตรงนี้ จะเป็นการเก็บให้ถูกต้อง จะเก็บกับผู้โดยสารที่จะ Transfer โดยไม่ได้บินเข้าไทย ฉะนั้นคนไทยไม่กระทบ” นายกีรติ กล่าว

ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร Transit/ Transfer เพราะสนามบินสุวรรณภูมิยังไม่มี Facility รองรับได้ แต่เมื่อเปิดใช้ SAT1 ก็จะสามารถอำนวยความสะดวกสบายได้มาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสายการบินจะเลือกสนามบินสุวรรณภูมิในการเปลี่ยนหรือ Transfer

หากสายการบินต่างๆ เลือกไทยเป็นศูนย์กลางการบินก็จะทำให้มีผู้โดยสารต่างชาติเข้ามาเปลี่ยนเครื่องในไทย โดย AOT คาดหวังสายการบินไทยที่เป็นสายการบินแห่งชาติของเราเข้มแข็งขึ้นและดึงผู้โดยสารต่างชาติมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทย โดยประเมินเบื้องต้นหากมีจำนวนผู้โดยสารที่มาเปลี่ยนเครื่องในไทย 2% ของผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ 60 ล้านคน หรือประมาณ 1 ล้านคน เก็บหัวละ 500 บาท ก็จะทำให้ AOT มีรายได้เพิ่มเข้ามา 500 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผน Soft Opening อาคาร SAT1 ในเดือน ก.ย.นี้ ที่จะมีเที่ยวบินบางส่วนเข้ามาใช้บริการ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการสายการบินต่างๆ ก่อนที่จะเปิดเป็นทางการในเดือน ก.พ.67

สำหรับ SAT1 มีพื้นที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร มี 28 สะพานเทียบเครื่องบิน โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี เมื่อรวมกับอาคารผู้โดยสารในปัจจุบันแล้วจะรองรับได้ 60 ล้านคน/ปี

ขณะที่การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (Runway3) จะก่อสร้างเสร็จภายในปี 66 และจะเปิดใช้ในเดือน ก.ค.67 โดยสามารถรองรับเที่ยวบินเพิ่มเป็น 92 เที่ยวบิน/ชั่วโมง จากปัจจุบันรองรับ 64 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top