การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ผู้รับสัปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง แจ้งว่า รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เตรียมจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ทั้ง 23 สถานี จากสถานีลาดพร้าว – สถานีสำโรง ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท ผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง ได้ 3 วิธี ดังนี้
- บัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว (Single Journey Card) โดยออกบัตรได้ที่เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสาร หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารภายในสถานี ทั้งนี้ กรณีผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรประชาชนติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อออกบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว ได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร
- บัตรแรบบิท (บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน)
- บัตร EMV Contactless โดยใช้บัตรเครดิตวีซ่า (VISA) หรือมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ของธนาคารใดก็ได้ รวมถึงบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย บัตรเดบิตของธนาคารยูโอบี และบัตรเดบิต Play Card (สมัครผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์) ที่มีสัญลักษณ์ Contactless Payment บนหน้าบัตรหรือหลังบัตร แตะเข้า-แตะออกระบบรถไฟฟ้าที่จุดให้บริการเครื่อง EDC บริเวณประตูพิเศษ (Swing Gate) โดยมีแผนจะขยายจุดให้บริการเพิ่มเติมให้ครบทุกประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC Gate) ในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีเหลือง – MRT สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ที่สถานีลาดพร้าว และชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน จะได้รับส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบ หากเดินทางเชื่อมต่อภายในระยะเวลา 30 นาที
พร้อมกันนี้ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี ได้เตรียมออกบูธบริการให้คำแนะนำเกี่ยวกับบัตร EMV Contactless และรับสมัครบัตรเดบิต Krungthai TranXit Debit Card และบัตรเดบิต UOB TMRW ที่สถานีลาดพร้าว (YL01) ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นี้
ผู้โดยสารยังสามารถนำรถยนต์มาจอด และเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ได้ที่อาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว และอาคารจอดรถสถานีศรีเอี่ยม โดยคิดอัตราค่าจอดรถสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ดังนี้
- อาคารจอดรถสถานีลาดพร้าว คิดอัตราค่าจอดรถยนต์ 2 ชั่วโมง 15 บาท (กรณีไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า ชั่วโมงละ 50 บาท)
- อาคารจอดรถสถานีศรีเอี่ยม คิดอัตราค่าจอดรถยนต์ ชั่วโมงละ 5 บาท (กรณีไม่ใช้บริการรถไฟฟ้า ชั่วโมงละ 20 บาท)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 66)
Tags: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง