ศาลสูงสหรัฐมีคำพิพากษาห้ามไม่ให้มหาวิทยาลัยในสหรัฐใช้เชื้อชาติเป็นเกณฑ์ในการรับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของยุคใหม่แห่งวงการการศึกษาระดับอุดมศึกษา และยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมที่เคยใช้มานานหลายทศวรรษ
คณะผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 เมื่อวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) ในการตัดสินว่า นโยบายยืนยันสิทธิ์ในการเข้ารับการศึกษา (Affirmative Action) ซึ่งกำหนดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการปกป้องความเท่าเทียมในระบบการศึกษาของสหรัฐ
นายจอห์น โรเบิร์ต หัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐได้ระบุในเอกสารคำพิพากษาว่า ศาลได้ปฏิเสธข้อโต้แย้งที่ว่า นโยบายดังกล่าวนั้นเป็นการส่งเสริมความหลากหลายในมหาวิทยาลัย
เขาระบุว่า มหาวิทยาลัยจำนวนมากมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่า สีผิวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแสดงอัตลักษณ์ของบุคคล มากกว่าความสำเร็จ ความเชี่ยวชาญ หรือการเรียนรู้ และเมื่อพิจารณาถึงหลักการตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐแล้ว เราไม่สามารถยอมรับแนวทางดังกล่าว”
การตัดสินดังกล่าวของศาลจะมีผลต่อนักศึกษาผิวสีและกลุ่มฮิสแปนิก (Hispanic) หรือชาวอเมริกันเชื้อสายสเปนและลาตินอเมริกาในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ ซึ่งเดิมนั้นมีอยู่จำนวนน้อยมาก และจะเป็นการบังคับให้มหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่งต้องปรับนโยบายการรับนักศึกษา
จากการสำรวจพบว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่พิจารณาเรื่องเชื้อชาติในการรับนักศึกษา แม้ 9 รัฐในสหรัฐซึ่งรวมถึงแคลิฟอร์เนียและฟลอริดาห้ามใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการรับนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐก็ตาม
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งของสหรัฐยังคงได้รับความสนใจจากนักศึกษาทั่วโลกและได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยล่าสุดคิวเอส ควัคควาเรลลี ซีมอนด์ส (QS Quacquarelli Symonds) สถาบันวิเคราะห์ข้อมูลด้านการอุดมศึกษาระดับโลกได้ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกประจำปี 2567 (QS World University Rankings) ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยของสหรัฐติดอันดับท็อปเท็นถึง 4 แห่งด้วยกัน โดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ติดอันดับที่ 1 ของโลก ขณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ติดอันดับ 4, มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดติดอันดับ 5 และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ติดอันดับ 10
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 66)
Tags: การศึกษา, มหาวิทยาลัย, สหรัฐ