เลขากกต. ชี้คดีหุ้นสื่อพิธา ซับซ้อนต้องรอบคอบ อาจยื่นศาลรธน.หากข้อมูลเพียงพอ

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อนโดยเฉพาะตัวกฎหมาย เนื่องจากมีพื้นฐานมาจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.แต่เมื่อมาปรับใช้กับเหตุการณ์สามารถดำเนินการได้หลายวิธี

หากเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส.ส.ตามกระบวนการจะเชิญผู้สมัครมาชี้แจงหรือไม่ก็ได้ แต่สุดท้ายจะต้องส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา

แต่หากเป็นช่วงหลังการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจะดำเนินการตามมาตรา 151 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเป็นการดำเนินคดีอาญา ต้องดูเอกสารหลักฐานอย่างครบถ้วน ปราศจากข้อสงสัย ดูเจตนาประกอบด้วย เพราะเป็นการดำเนินคดีอาญา และต้องแจ้งให้กับผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง

หากเป็นช่วงหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วิธีการคือตรวจสอบข้อเท็จจริง หาก กกต.มีความเห็นหรือมีหลักฐานเพียงพอก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งก่อนการยื่นจะเชิญผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.มาชี้แจงหรือไม่ก็ได้

“ก่อนที่ กกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ สิ่งสำคัญ กกต.ต้องเห็นก่อนแต่ยังไม่ใช่การวินิจฉัย เพียงเห็นว่ามีข้อมูลเพียงพอเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งอาจใช้ข้อมูลจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนก็ได้ หรืออาจตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ เบื้องต้นขณะนี้มีผู้มายื่นร้องให้ กกต.ดำเนินการตามมาตรา 82 แล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.ว่าจะใช้วิธีการดำเนินการอย่างไร แต่เมื่อ กกต.เห็นจะต้องมีการประชุมอย่างแน่นอน จะดูว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานแก้ไข เพียงพอส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ต้องมีพยานหลักฐานและต้องเห็นด้วย แต่จะต้องยื่นให้ศาลฯ ก่อนมีการโหวตนายกฯ หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ กกต.ต้องมาพิจารณา” นายแสวง กล่าว

ส่วนกระแสข่าว กกต.ออกหนังสือเชิญนายพิธาให้มาชี้แจงแล้วนั้น นายแสวง กล่าวว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา 151 จะพิจารณา ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการไต่สวนจะดำเนินการจนแล้วเสร็จจึงจะมีการรายงานให้ กกต.ทราบหรือพิจารณา กกต.อาจมีสอบถามความคืบหน้าได้ แต่ไม่สามารถไปก้าวก่ายแทรกแซง โดยกรอบการพิจารณา 20 วันแรกจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ค.66 หากพิจารณาไม่เสร็จสามารถยื่นขอขยายเวลาดำเนินการอีก 15 วันผ่านเลขาธิการ กกต. เบื้องต้นยังไม่เห็นการยื่นหนังสือขอขยายเวลาตรวจสอบ แต่คณะกรรมการไต่สวนรายงานความคืบหน้าต่อ กกต.ระบุว่าสอบใกล้แล้วเสร็จ

เลขาธิการ กกต.ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าพบประธาน กกต.ว่า ได้นำหลักฐานประกอบคดีหุ้นนายพิธามามอบให้ ซึ่งสำนักงาน กกต.จะนำหลักฐานที่ได้ไปประกอบการพิจารณาทั้งคดีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 และกรณีสงสัยคุณสมบัติ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82

เลขาธิการ กกต.ยังกล่าวถึงกรณีก่อนหน้านี้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นไม่รับคำร้องยุบพรรคก้าวไกลจากเหตุมีนโยบายหาเสียงแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งอัยการสูงสุดชี้แจงว่ารับหรือไม่รับคำร้องของผู้ที่ยื่นร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในชั้นของกฎหมายพรรค เราจะพิจารณาว่าการกระทำนั้นมีอำนาจให้พรรคกระทำหรือไม่ และกระทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งเขียนต่างจากรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีผู้เห็นว่าการกระทำนั้นใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ทำให้เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ต้องไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน และแม้นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีความเห็นไม่รับคำร้องกรณีดังกล่าวไปแล้ว แต่ขณะนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ได้ให้สำนักงาน กกต.ไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการกระทำตามคำร้องนั้นๆ เป็นความผิดฐานไหนอีกหรือไม่ตามกฎหมายพรรค ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นฐานความผิดใดได้อีก ต้องขอตรวจสอบก่อน

คำร้องพุ่ง 320 เรื่อง กกต.จ่อสอบข้อเท็จจริง ก่อนแจกใบเหลือง-แดง

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กกต. กว่า 320 เรื่อง ซึ่ง กกต. ต้องดำเนินการว่าจะสั่งรับหรือไม่รับไว้พิจารณา เพราะหากรับไว้พิจารณา ก็จะมีขั้นตอนการพิจารณาตามระเบียบสืบสวนไต่สวน โดยต้องรวบรวมเอกสาร พยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม เมื่อตรวจสอบเสร็จ ทางสำนักงานกกต. ก็จะเสนอให้ กกต.พิจารณา

ส่วนการพิจารณาสำนวนข้อร้องเรียนการทุจริต เพื่อออกใบเหลือง-ใบแดงนั้น นายแสวง กล่าวว่า ขณะนี้ กกต. ยังไม่ได้เริ่มพิจารณา เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งภายหลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว พบว่ายังมีผู้ทยอยมายื่นร้องคัดค้านผู้ที่ได้รับเลือกเป็นส.ส.เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดว่า หลังจากที่ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.แล้ว หากเห็นว่าผู้ที่ได้รับรองให้เป็น ส.ส.มีการกระทำที่ไม่สุจริต ยังสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบได้ภายใน 30 วันหลังจากที่ กกต.ประกาศรับรอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top