ทุเรียนไทยได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวจีน แต่ราคาแสนแพงทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยลังเลที่จะควักกระเป๋าซื้อ ทว่าอานิสงส์จากเส้นทางสายไหมใหม่ หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) ช่วยให้จีนลดต้นทุนในการนำเข้าทุเรียน นอกเหนือไปจากปัจจัยด้านผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ในปีนี้
นางคัง ลี่ลี่เป็นหนึ่งในชาวจีนที่ชื่นชอบทุเรียนไทยอย่างสูง โดยเธอระบุว่า “ทุเรียนเคยมีราคาเกือบ 100 หยวน (13.87 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อกิโลกรัมในเดือนเม.ย. แต่ลดลงเหลือเพียงประมาณ 40 หยวนต่อกิโลกรัมในเดือนมิ.ย. ฉันจึงมีโอกาสได้รับประทานทุเรียนได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินในกระเป๋า”
ทุเรียนซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งผลไม้” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นผลไม้ที่มีราคาแพงจับต้องได้ยาก แต่ราคาที่ถูกลงในปัจจุบันทำให้คนรักทุเรียนต่างรู้สึกปลาบปลื้ม
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้ทุเรียนในจีนมีราคาถูกลงคือผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์จากบรรดาประเทศส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งช่วยพัฒนาช่องทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศระหว่างจีนและประเทศต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางสายไหมใหม่
ช่องทางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเหล่านี้ได้ส่งเสริมการค้าและลดเวลาการขนส่งลงอย่างมากระหว่างประเทศผู้ผลิตทุเรียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่ต่าง ๆ ของจีน
ในอดีต ทุเรียนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถูกขนส่งทางทะเลไปยังเมืองต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกของจีน ก่อนถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ทางภาคตะวันตกของจีน การขนส่งที่ยาวนานและต้นทุนที่ระดับสูงทำให้ยากที่จะเจาะตลาดในภาคตะวันตกของจีน และลูกค้าต้องเผชิญกับทุเรียนที่มีราคาแพงมากขึ้น
ในวันอาทิตย์ที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา รถไฟข้ามพรมแดนขบวนหนึ่งที่บรรทุกทุเรียนสดประมาณ 500 ตันจากไทยได้เดินทางถึงนครฉงชิ่งทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ทำให้เป็นทุเรียนไทยชุดแรกที่ขนส่งถึงนครฉงชิ่งโดยตรงผ่านทางระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบกและทางทะเลแห่งใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor)
นายเติ้ง ฮ่าวจี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของหงจิ่ว ฟรุต บริษัทรับซื้อทุเรียนระบุว่า การขนส่งทุเรียนชุดนี้ใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น เทียบกับ 8 –10 วันจากเส้นทางบก–ทางทะเลในอดีต
“สำหรับผู้นำเข้าผลไม้ เวลาคือเงินและเวลาทุกชั่วโมงนั้นล้ำค่า การขนส่งทุเรียนทางรถไฟนี้ช่วยลดต้นทุนและการสูญหายระหว่างการขนส่ง” นายเติ้งกล่าว พร้อมระบุเสริมว่า ปัจจัยเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วก็ส่งผลประโยชน์ต่อลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายพรเลิศ จันทร์โต เจ้าของสวนทุเรียนแห่งหนึ่งในไทยและเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของหงจิ่ว ฟรุต ได้กล่าวชื่นชมเส้นทางการขนส่งใหม่ดังกล่าว “โลจิสติกส์พัฒนาขึ้นอย่างมาก อุปสงค์จากตลาดจีนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว และตลาดจีนมีความสำคัญสำหรับผมอย่างมาก”
รายงานระบุว่า คำสั่งซื้อทุเรียนจากจีนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้รายได้จากสวนของนายพรเลิศเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3 ล้านหยวนในปี 2561 สู่ 3.5 ล้านหยวนในปี 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 66)
Tags: จีน, ทุเรียน