ครม.แค่รับทราบรายงานแก้ปัญหาโครงการไฮสปีดเทรนตามข้อเสนอกลุ่มซีพี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน เสนอโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ประกอบด้วย

ส่วนแรก การแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบจำนวนผู้โดยสาร และรายรับเอกชนคู่สัญญา (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) หากไม่มีการแก้ไขที่เกิดขึ้นอาจส่งให้การบริการเดินรถ การบำรุงรักษา แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ต้องหยุดชะงักลง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของโครงการต่อสถาบันการเงินลดลงด้วย

โดยจากเดิมเอกชนคู่สัญญาจะต้องชำระค่าสิทธิในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาทให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใน 2 ปีหลังลงนามในสัญญาร่วมทุน จะมีการแก้ไขให้เอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระ ออกเป็น 7 งวด พร้อมดอกเบี้ย 1,060 ล้านบาท แต่ละงวดประมาณ 1,067 ล้านบาท และงวดที่ 7 อยู่ที่ 5,328 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี

นายอนุชา กล่าวว่า การแบ่งจำนวนชำระ 7 งวด เหมาะสม เนื่องจากผลประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับมีจำนวนใกล้เคียงกับผลกระทบที่เอกชนคู่สัญญาได้รับจากสถานการณ์โควิด-19

ในกรณีที่เอกชนคู่สัญญาได้รับรายได้ค่าโดยสาร แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่สูงกว่าการประมาณการของรฟท. รฟท.ก็มีสิทธิที่จะเจรจาให้เอกชนคู่สัญญาชำระสิทธิในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เร็วขึ้นได้ด้วย

 

ส่วนที่ 2 การแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ ในเรื่องนี้จะมีการปรับเปลี่ยนโดยเรื่องของสัญญาร่วมทุนจะมีการดำเนินการที่แตกต่างจากการร่วมลงทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภาที่เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ที่มีการบริหารสัญญาในกรณีมีเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน อันครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

การแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ก็จะสามารถดำเนินการได้ด้วยกระบวนการบริหารสัญญาโดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมทุน แต่อย่างไรก็ตามก็จะมีการเพิ่มคำจำกัดความของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันให้ครอบคลุมเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการและเอกชนคู่สัญญา

ซึ่งในส่วนของภาพรวม ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ปัญหาในครั้งนี้ คือ การให้บริการโครงการ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ จะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเอกชนคู่สัญญาสามารถชำระค่าสิทธิในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เพื่อรับสทธิการดำเนินโครงการต่อไปได้ และจะมีกลไกในการบริหารสัญญาเพื่อรับมือกับเหตุผ่อนผันและเหตุสุดวิสัยกับเหตุการณ์ได้ในอนาคต

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top