BIS เตือนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อครั้งสำคัญ

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เรียกร้องให้ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเตือนว่าเศรษฐกิจโลกในขณะนี้กำลังอยู่ในจุดที่สำคัญ เนื่องจากหลายประเทศกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการควบคุมเงินเฟ้อ

BIS ระบุว่า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา แต่เงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจชั้นนำหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ต้นทุนการกู้ยืมที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินเมื่อ 15 ปีก่อน

นายออกัสติน คาร์สเตนส์ ผู้จัดการทั่วไปของ BIS ระบุในรายงานประจำปีว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งความท้าทายที่รุนแรงเช่นนี้จำต้องได้รับการแก้ไข การผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้น ๆ ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำในขณะนี้คือการใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อ โดยควรจะใช้ควบคุ่กับนโยบายการคลัง”

ขณะที่นายเคลาดิโอ โบริโอ หัวหน้าฝ่ายการเงินและเศรษฐกิจของ BIS กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะก่อตัวขึ้นอีก แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอังกฤษและนอร์เวย์ที่สูงกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้

“ความท้าทายเหล่านี้ไม่เหมือนเดิมเมื่อเทียบมาตรฐานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นับเป็นครั้งแรกที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกเกิดขึ้นพร้อมกับความเปราะบางทางการเงินเป็นวงกว้าง” นายโบริโอกล่าว

รายงานของ BIS ระบุว่า ยิ่งอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นนานเท่าไร การดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินก็จำเป็นต้องบังคับใช้ยาวนานขึ้น พร้อมกับเตือนว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะเกิดปัญหาเพิ่มอีกในภาคการธนาคาร

นายโบริโอกล่าวว่า หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับเดียวกับช่วงกลางทศวรรษ 1990 ภาระการชำระหนี้โดยรวมของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ นายโบริโอระบุ “ผมคิดว่าธนาคารกลางจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ เพราะงานของพวกเขาคือการรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม”

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top