Media Talk: ซีอีโอ Content Shifu ชี้ AI มาแรงนักการตลาดต้องวิ่งตามให้ทันถ้าไม่อยากถูกกลืน

“แบงค์” สิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์ ซีอีโอของ Content Shifu เผยเทรนด์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) มาแรง ชี้เทคโนโลยีในปัจจุบันทำหน้าที่เหมือนคลื่นลูกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงการตลาดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะการมาของ AI และระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยคอมพิวเตอร์โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งแรงงานคน หากไม่อยากจะถูกกลืนไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลง นักการตลาดจำเป็นต้องวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน

เทคโนโลยี AI ตัวช่วยทรงประสิทธิภาพของครีเอเตอร์

ซีอีโอของ Content Shifu ได้พูดถึงแนวโน้มและข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดและเทคโนโลยีในหัวข้อ “Marketing Insight & Technology Trend 2023” ที่งาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2023 FESTIVAL หรือ CTC2023 ซึ่งมีสปีกเกอร์ชั้นนำกว่า 100 คน จากแวดวง Creative, Marketing, Innovation, Entrepreneurship และ People เข้าร่วม โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 มิ.ย. 2566

คุณแบงค์ มองว่า แม้ AI จะถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน แต่เพิ่งจะถูกทำให้เข้าถึงได้ง่ายเมื่อไม่นานมานี้ และในปัจจุบันที่ผู้คนต่างรู้จัก ChatGPT แชตบอตชื่อดังที่พัฒนาโดย OpenAI หรือแม้แต่ Midjourney AI ที่สามารถสร้างรูปภาพจากข้อความ นอกเหนือจาก AI ชื่อดังที่มีคนรู้จักเป็นวงกว้างแล้ว ยังมี AI ตัวอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้อยู่ในรูปแบบที่ใครก็สามารถใช้งานได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิคขั้นสูง ซึ่ง AI เหล่านี้สามารถเข้ามาช่วยนักการตลาดทำคอนเทนต์ สร้างรูปภาพประกอบ หรือใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ แรงกระแทกของกระแส AI ในปัจจุบันอาจจะเทียบเท่ากับยุคสมัยที่สมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทและกลายมาเป็นสิ่งที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อใดก็ตามที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น แน่นอนว่า ความเสี่ยงและความกังวลมักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเสมอ คุณแบงค์ สิทธินันท์กล่าวถึงเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการใช้ AI ในแง่ของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวว่า ด้วยธรรมชาติของ AI ที่มีการเรียนรู้โดยอัตโนมัติจากทุกข้อมูลที่ผู้ใช้ส่งต่อให้ จึงทำให้หลายองค์กรลังเลที่จะให้พนักงานใช้งาน AI เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการให้ข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทหรือข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครองกับ AI ด้วยเหตุนี้ คุณแบงค์จึงย้ำว่า ผู้ใช้งาน AI ควรที่จะคำนึงถึงกฎหมายและจริยธรรมในการใช้งานอยู่เสมอ

Going Beyond ไปให้ไกลกว่าคอนเทนต์รูปแบบเดิม ๆ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คอนเทนต์ประเภทบทความ รูปภาพ วิดีโอ อาจจะไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมนุษย์มีตัวช่วยอย่าง AI ซึ่งทำให้การสร้างคอนเทนต์ทำได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้น นักการตลาดจึงจำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร เพื่อดึงดูดผู้บริโภค โดยคุณแบงค์ได้ยกตัวอย่างของแพลตฟอร์ม “xxx to earn” เช่น Move to earn, Learn to earn, Play to earn ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ตอบรับกับกระแสการมาของสินทรัพย์ดิจิทัล แพลตฟอร์มในลักษณะนี้จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ และสร้างผลลัพธ์ที่ทั้งแบรนด์และผู้บริโภคได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

“การมีส่วนร่วม” และ Interaction เป็นหนึ่งในหัวใจหลักที่จะช่วยพยุงแบรนด์เอาไว้ได้ นอกจากแพลตฟอร์ม “xxx to earn” แล้ว คอนเทนต์ในลักษณะที่กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมอื่น ๆ ก็สามารถสร้างแรงดึงดูดจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคสามารถคลิกเพื่อดูเนื้อหา หรือคอนเทนต์ที่ให้ผู้บริโภคสามารถแสดงความเห็นร่วมกับแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แบรนด์ในยุคปัจจุบันอาจจะพิจารณาและนำไปใช้ เพื่อเสริมฐานลูกค้าของตนเอง

แพลตฟอร์มโฆษณากับการจับมือระหว่างแบรนด์และครีเอเตอร์

คุณสิทธินันท์เปรียบประเทศไทยว่าเป็น The Creator Nation (ประเทศแห่งครีเอเตอร์) เนื่องจากคนไทยมีความสามารถและเก่งในเรื่องของการสร้างคอนเทนต์ ในยุคปัจจุบันที่ใครก็สามารถเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ และบทบาทของการเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับแบรนด์อีกต่อไปนั้น โมเดลการตลาดในรูปแบบ Affiliate Marketing จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรง โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากอย่างติ๊กต๊อก หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมในไทยอย่างลาซาด้าและช้อปปี้ การทำ Affiliate Marketing มีข้อดี คือ แบรนด์สามารถดึงครีเอเตอร์มาช่วยโฆษณาสินค้าและบริการภายใต้ความสัมพันธ์ในลักษณะ Win-Win คือ การได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย หากโฆษณาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แบรนด์ก็จะได้รับรายได้จากผู้บริโภค ขณะที่ครีเอเตอร์ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากแบรนด์

นอกจาก Affiliate Marketing หรือการร่วมกันทำตลาดแล้ว อีกตัวเลือกหนึ่งของการทำตลาดก็คือ การที่แบรนด์เป็นครีเอเตอร์เอง ซึ่งวิธีการนี้แบรนด์สามารถประสบความสำเร็จได้ในฐานะครีเอเตอร์เช่นกัน หากแบรนด์จับทางความต้องการของผู้บริโภคและผลิตคอนเทนต์ที่ดึงดูดใจออกมาได้ไม่ต่างไปจากอินฟลูเอนเซอร์ เช่น กรณีของ Tops Thailand ที่สร้างคอนเทนต์ในรูปแบบรูปภาพโฆษณาสินค้าโดยดึงเอาความสนใจของคนไทยในขณะนั้นมาช่วยสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจและได้รับยอดแชร์อย่างล้นหลามในโซเชียลมีเดีย

“Basic is Still Classic” พื้นฐานยังคงสำคัญเสมอ

คุณสิทธินันท์ย้ำด้วยว่า แม้โลกจะหมุนไปไว และเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ “พื้นฐาน” ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะในยุคสมัยไหน พื้นฐานที่สำคัญสำหรับนักการตลาดคือ “ทักษะในการทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงจุดเด่นจุดด้อยของผลิตภัณฑ์แบรนด์ตัวเอง” ไม่ว่าเราจะมีตัวช่วยที่ทันสมัยและล้ำหน้าเพียงใด ก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาทักษะขั้นพื้นฐานเหล่านี้เป็นตัวตั้งต้น

นอกจากนี้ นักการตลาดจำเป็นต้องวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน หากไม่อยากจะถูกกลืนไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลง “อยากจะเป็นคนที่ถูกกลืน หรืออยากยืนอยู่เหนือคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง ทางเลือกเป็นของคุณ” คุณสิทธินันท์ กล่าว

สรุปแล้ว เทรนด์ AI, Affiliate Marketing และการทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์โดยแบรนด์เอง เป็นสิ่งที่นักการตลาดในปัจจุบันต้องนำไปประยุกต์ใช้และติดตามอยู่เสมอ เพราะแรงกระแทกของคลื่นจาก AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ ยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top