งานวิจัยใหม่จากสถาบันวัดและประเมินผลสุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่า ปัจจุบันมีคนเป็นโรคเบาหวานอยู่ที่ 529 ล้านคนทั่วโลก แต่หากไม่มีมาตรการแก้ไข ตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว แตะที่ระดับราว 1.3 พันล้านคนภายในปี 2593
รายงานระบุว่าคนส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะอ้วนมากขึ้น นอกจากนี้ ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนวัยอื่น
อย่างไรก็ดี บางประเทศและบางภูมิภาคจะมีจำนวนคนเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมากกว่าที่อื่น ๆ เช่น ในอเมริกาเหนือและตะวันออกกลางจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 16.8% ภายในปี 2593 ส่วนตัวเลขในลาตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนจะเป็น 11.3% ขณะที่รายงานคาดว่าจะมีคนเป็นเบาหวานอยู่ที่ 9.8% ของทั้งโลก เพิ่มจากระดับปัจจุบันที่ 6.1%
“อัตราการเป็นโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ไม่เพียงน่าตกใจเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อระบบสาธารณสุขทุกแห่งในโลกอีกด้วย” คุณลี่เอิน อ๋อง หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าว พร้อมระบุว่า โรคเบาหวานเชื่อมโยงกับโรคอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวใช้ข้อมูลเกี่ยวกับเบาหวานจาก 204 ประเทศทั่วโลก แต่ไม่ได้นำผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 มาคำนวณด้วย เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลตัวเลขดังกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ และเป็นส่วนหนึ่งในชุดงานวิจัยเรื่องโรคเบาหวานที่ตีพิมพ์เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.) ในวารสารการแพทย์เดอะแลนซิต (The Lancet) โดยชุดงานวิจัยนี้เรียกร้องให้มีการใช้กลยุทธ์การป้องกันและรักษาโรคเบาหวานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 66)
Tags: ผลวิจัย, มหาวิทยาลัยวอชิงตัน, เบาหวาน, โรคเบาหวาน