นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การระบาดของโควิดเป็นไปตามฤดูกาล ในฤดูฝนตามที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยจะระบาดไปจนถึงเดือนก.ค.-ส.ค. และจะเริ่มลดลงในเดือน ก.ย.
สำหรับสายพันธุ์ที่พบขณะนี้ เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ XBB โดยพบว่า สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์หลัก จากข้อมูลการศึกษา พบว่า ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนในอดีต ที่เริ่มต้นจากสายพันธุ์อู่ฮั่น และเพิ่มสายพันธุ์ BA.5 ในวัคซีน 2 สายพันธุ์นั้น ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ XBB ได้
ในส่วนของการติดเชื้อซ้ำ จากการศึกษาทั้งหมด 250 คน พบว่าความรุนแรงครั้งที่ 2 น้อยกว่าครั้งแรกมาก การจะติดเชื้อครั้งที่ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ก็สามารถเป็นใหม่ได้อีก อย่างไรก็ดี ภูมิคุ้มกันหลักพอจะช่วยปกป้องและลดความรุนแรงลงได้ แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ
ส่วนการให้วัคซีนในอนาคต จะต้องมีการคาดคะเนไว้ล่วงหน้าแบบไข้หวัดใหญ่ ว่าสายพันธุ์ที่จะระบาดจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เช่น ขณะนี้องค์การอนามัยโลก แนะนำบริษัทวัคซีนให้ผลิตวัคซีนที่เป็นสายพันธุ์ XBB แต่ในกระบวนการผลิต ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ไวรัสก็จะเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไปอีก
อย่างไรก็ดี จากการทำการศึกษาอัตราการกลายพันธุ์ ถ้าเปรียบเทียบในระยะแรกของโควิด-19 อัตราการกลายพันธุ์เร็วและสูงมาก แต่พอถึงช่วงปีที่ผ่านมา อัตราการกลายพันธุ์ช้าลง อยู่ในอัตรา 1.2-6.7 ตำแหน่งต่อพันต่อปี ไวรัสนี้มีทั้งหมด 3 หมื่นตำแหน่ง เมื่อดูอัตรานี้แล้ว จะใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ A ดังนั้นแนวโน้มของไวรัสนี้ คงจะใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ A ในอนาคต คือ ถ้าได้รับเชื้อสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไป ก็มีโอกาสเป็นได้อีก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 66)
Tags: ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19