น.ส.ออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.บียอนด์ (BYD) คาดว่า บริษัทจะสามารถเริ่มกระบวนการขายคาร์บอนเครดิตได้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ หลังจากกลุ่ม บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) บรรลุข้อตกลงโครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 ระหว่างรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์และรัฐบาลไทย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 66 มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้ EA เพื่อถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการเปลี่ยนรถเมล์ร่วมบริการเป็นรถไฟฟ้าตั้งแต่ พ.ศ. 2564 – 2573 ให้แก่มูลนิธิ KLiK (The Foundation for Climate Protection and Carbon Offset) ของสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ
น.ส.ออมสิน กล่าวกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ปัจจุบันการขายคาร์บอน์เครดิตอยู่ในช่วงของการเก็บข้อมูลของ บริษัท ไทย สมายล์บัส จำกัด (TSB) เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอน และถ่ายโอนไปยัง EA จากนั้น EA จะนำผู้เชี่ยวชาญของ Klilk เข้ามาตรวจสอบ (Verify) เพื่อขึ้นทะเบียน และเข้าสู่ขั้นตอนของการขายคาร์บอนเครดิต
“ตอนนี้อยู่ในช่วงของการทำการตรวจสอบเบื้องต้น และส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญที่เป็น Third party ดู ถือว่าเราทำได้เร็วกว่าโปรแกรมที่วางไว้ โดยขั้นตอนต่อไปคือการ Verify อย่างเป็นทางการ แล้วก็ส่งไปยังรัฐบาลสวิตฯ เพื่อตรวจสอบอีกครั้งอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นก็จะสามารถออกใบรับรอง หรือ Certificate ให้กับเราได้ คาดจะอยู่ในช่วงปลายๆ ปีนี้ หรือราว ต.ค.-ต้น พ.ย.66 เมื่อ Certificate พร้อมก็แปลว่าสามารถพร้อมขายได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าราคา ณ ตอนนั้นจะเป็นเท่าไหร่ หากขายได้ก็จะรับรู้รายได้เข้ามาทันที”
น.ส.ออมสิน กล่าว
สำหรับขั้นตอนของการขายคาร์บอนเรดิตในแต่ละปี จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กล่าวมา คือ เก็บข้อมูล, Verify, ขึ้นทะเบียน และขาย ซึ่งจะวน Loop ไปทุกปีจนกระทั่งหมดอายุโครงการ โดยอายุโครงการที่ตกลงไว้กับ Klik ในเบื้องต้นจะอยู่ที่ 10 ปี ฉะนั้น ด้วยอายุสัมปทานใบอนญาตเส้นทางเดินรถเมล์ EV ของไทยสมายล์บัสที่ได้รับจากกรมขนส่งทางบกที่มีอยู่ 7 ปี และจะสามารถต่ออายุได้ทุก 7 ปี สอดคล้องกันกับอายุโครงการดังกล่าว
น.ส.ออมสิน กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ประมาณการรายได้ที่จะเกิดจากการขายคาร์บอนเครดิต เนื่องจากต้องดูว่าราคา ณ วันที่เริ่มขายคาร์บอนจะเป็นอย่างไร ส่วนปริมาณการขายจากการศึกษา พบว่า รถบัสโดยสารไฟฟ้า (E-BUS) น่าจะทำให้มีคาร์บอนเครดิตราว 238,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จาก E-BUS จำนวน 3,000 คัน และเรือโดยสารไฟฟ้า (E-Ferry) คาดมีคาร์บอนเครดิตราว 12,220 ตันตาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จาก E-Ferry จำนวน 27 ลำ ทั้งสองส่วนรวมกันจะมีคาร์บอนเครดิตไม่ต่ำกว่า 250,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ปัจจุบัน ไทยสมายล์บัส มีใบอนุญาตในการเดินรถ ทั้งรถบัสโดยสารไฟฟ้า (E-BUS) และเรือโดยสารไฟฟ้า (E-Ferry) รวม 123 ใบอนุญาต โดย ณ ไตรมาส 1/66 มีจำนวน E-BUS จำนวน 1,471 คัน และมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนรถ E-BUS ในปีนี้เป็น 3,000 คัน
น.ส.ออมสิน กล่าวว่า BYD ได้มีการลงทุนทางอ้อมในไทยสมายล์บัส ผ่านบริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) โดยถือหุ้นในสัดส่วน 49.39% ซึ่งแม้ BYD จะถึงหุ้นในสัดส่วนดังกล่าว แต่มีส่วนในการรับรู้เงินปันผลสูงถึงเกือบ 75% ทำให้เมื่อมีการบันทึกงบการเงินเข้ามาก็จะรับรู้ผลประกอบการเข้ามาถึง 75%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 66)
Tags: BYD, คาร์บอนเครดิต, บียอนด์, หุ้นไทย, ออมสิน ศิริ