นักท่องเที่ยว 5 ชีวิตก้าวขึ้นเรือดำน้ำ “ไททัน” (Titan) เพื่อเที่ยวชมซากเรือไททานิก (Titanic) ใต้มหาสมุทรแอตแลนติกตามโปรแกรมท่องเที่ยวที่ซื้อมาในราคาแสนแพงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่าพวกเขาจะต้องติดอยู่ใต้น้ำลึกเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันอย่างไม่รู้ชะตากรรม
ตามกำหนดการแล้วเรือดำน้ำไททันนั้นจะต้องกลับขึ้นฝั่งตั้งแต่คืนวันอาทิตย์ในทริปวันเดียวจบ ทว่ากลับสูญเสียการติดต่อกับเรือแม่หลังออกเดินทาง เพื่อมุ่งสู่ซากเรือไททานิกที่ความลึก 3,800เมตร (12,500 ฟุต) ได้เพียง 1 ชั่วโมง 45 นาที
การสูญหายไปของเรือดำน้ำไททันส่งผลให้เจ้าหน้าที่เร่งออกปฏิบัติการค้นหาแบบเป็นวงกว้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่พบเป้าหมาย ในขณะที่เวลาของผู้ประสบภัยลดน้อยลงทุกที เพราะเหลืออากาศสำหรับหายใจเพียง 30 ชั่วโมง
*ทริปในฝัน “ชมซากเรือไททานิก”
การเที่ยวชมซากเรือไททานิกด้วยเรือดำน้ำไททันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการเดินทาง 8 วันที่จัดขึ้นโดยบริษัททัวร์โอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชั่น (OceanGate Expeditions) โดยทริปนี้เริ่มต้นที่นครเซนต์จอห์นในเกาะนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา โดยนักท่องเที่ยวมีกำหนดเดินทางในระยะทาง 400 ไมล์ทะเลไปยังซากเรือไททานิก ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งเคปค้อดในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร)
เรือดำน้ำไททันเริ่มต้นเดินทางไปยังซากเรือไททานิกตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 18 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนสูญเสียการติดต่อกับเรือโพลาร์ ปรินซ์ (Polar Prince) ในเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาทีให้หลัง เร็วกว่ากำหนดการเดินทางสู่จุดหมาย 2 ชั่วโมง โดยเรือโพลาร์ ปรินซ์เป็นเรือแม่ที่ขนส่งไททันไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทาง
เจ้าหน้าที่เริ่มต้นออกปฏิบัติการค้นหาในวันเดียวกัน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไททัน เพราะเหตุใดจึงสูญเสียการติดต่อ และไททันอยู่ใกล้กับซากเรือไททานิกเพียงใดในช่วงที่สูญหายไป
*เรือดำน้ำไททัน
เรือดำน้ำไททันนั้นไม่เหมือนกับเรือดำน้ำทั่วไปที่สามารถออกเดินทางและกลับเข้าท่าได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องอาศัยเรือแม่เป็นผู้ปล่อยลงน้ำและนำขึ้นจากน้ำ โดยเรือดำน้ำไททันถูกปล่อยออกจากเรือโพลาร์ ปรินซ์ ซึ่งเป็นเรือตัดน้ำแข็งที่โอเชียนเกตว่าจ้างมา
เอกสารที่โอเชียนเกตยื่นต่อศาลแขวงในรัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องไททานิกระบุว่า เรือดำน้ำไททันนั้นสามารถดำน้ำลึกสูงสุด 4,000 เมตร (13,120 ฟุต) โดยมีการเผื่อส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยเอาไว้แล้ว
โอเชียนเกตระบุว่า ไททันผลิตจากไทเทเนียมและเส้นใยคาร์บอน โดยได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความทนทานต่อแรงกดดันมหาศาลใต้ท้องทะเลลึก
ในเอกสารที่ยื่นต่อศาลเมื่อเดือนพ.ค. 2564 โอเชียนเกตระบุว่า ไททันมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่เหนือชั้น โดยผ่านการทดสอบดำน้ำกว่า 50 ครั้ง ซึ่งรวมถึงการทดสอบดำน้ำลึกเทียบเท่าจุดที่ซากเรือไททานิกตั้งอยู่ บริเวณนอกชายฝั่งบาฮามาส
อย่างไรก็ตาม อดีตพนักงาน 2 รายของโอเชียนเกตเคยออกมาเตือนเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททันสมัยที่ยังทำงานให้กับบริษัทดังกล่าวเมื่อหลายปีก่อน โดยพนักงานรายหนึ่งถูกบริษัทไล่ออกและฟ้องร้องดำเนินคดีโทษฐานเปิดเผยข้อมูลลับของบริษัท
*เกิดอะไรขึ้นกับไททัน
จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้หลายประการด้วยกัน
– นายอีริก ฟูซิล (Eric Fusil) ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำและรองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแอดิเลดระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญประการหนึ่งคือไฟฟ้าดับ ซึ่งสามารถตัดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก โดยปกติแล้วเรือดำน้ำชนิดเดียวกับไททันจะมีพลังงานสำรอง เผื่อกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าไททันมีพลังงานสำรองหรือไม่
-นายฟูซิลกล่าวว่า ปัจจัยที่ 2 คือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายระบบของเรือดำน้ำเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดควันพิษในพื้นที่ปิดขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อผู้โดยสาร
-อีกปัจจัยที่นายฟูซิลตั้งข้อสันนิษฐานคือน้ำซึมเข้าสู่พื้นที่ภายในเรือดำน้ำไททัน โดยที่ความลึกของเรือไททานิกนั้นจะก่อให้เกิดแรงดันมหาศาลที่ทำให้ยานพาหนะส่วนใหญ่ระเบิดได้ แต่โอเชียนเกตระบุว่า ไททันมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งสามารถจับตาแรงกดดันบนเรือได้และส่งเสียงเตือนกัปตันเรือหากตรวจพบข้อบกพร่องขึ้น
-ข้อสันนิษฐานสุดท้าย นายฟูซิลคาดการณ์ว่าเรือดำน้ำไททันอาจติดอยู่ในเศษซากชิ้นส่วนของอะไรบางอย่างหรือถูกปิดกั้นเส้นทาง เนื่องจากใต้มหาสมุทรนั้นกระแสน้ำเชี่ยวกรากและยังมีเศษชิ้นส่วนจากซากเรือไททานิกบริเวณท้องมหาสมุทรอีกด้วย
* นับเวลาถอยหลัง 30 ชั่วโมง
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ขณะนี้ผู้โดยสารทั้ง 5 คนบนเรือดำน้ำไททันมีอากาศสำหรับหายใจอีกประมาณ 30 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นการประมาณการอย่างเป็นทางการ โดยไททันนั้นมีออกซิเจนฉุกเฉินสำรองสำหรับระยะเวลา 4 วัน
แม้เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งออกปฏิบัติการค้นหาอย่างเร่งด่วน ทว่ายังไม่พบเรือดำน้ำไททัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเดินหน้าค้นหาทั้งในพื้นที่ผิวน้ำและใต้น้ำในพื้นที่ห่างไกลบริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างไม่หยุดยั้ง โดยหน่วยยามชายฝั่งระบุเมื่อวันอังคาร (20 มิ.ย.) ว่า จะมีการจัดส่งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าช่วยเหลือเพิ่มเติมเร็ว ๆ นี้
*ผู้สูญหายทั้ง 5 ราย
ผู้โดยสารทั้ง 5 รายที่สูญหายไปพร้อมกับเรือดำน้ำไททัน ได้แก่
-นายฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) นักผจญภัยชาวอังกฤษวัย 58 ปีที่เคยมีประสบการณ์เดินทางไปอวกาศและขั้วโลกใต้หลายครั้ง
-นายชาซาดา ดาวู้ด (Shahzada Dawood) นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกของหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของปากีสถานและเป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิ 2 แห่งที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ
-นายซูเลมาน ดาวู้ด (Suleman Dawood) บุตรชายวัย 19 ปีของนายชาซาดา ดาวู้ด
-นายปอล อองรี นาร์โฌเลต์ (Paul-Henry Nargeolet) อดีตนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศสวัย 77 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สำรวจซากเรือไททานิกมากกว่านักสำรวจคนอื่น ๆ และเป็นหนึ่งในคณะสำรวจซากเรือไททานิกกลุ่มแรกในปี 2530
-นายสต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโอเชียนเกตวัย 61 ปี โดยโอเชียนเกตเป็นผู้ทำทริปเที่ยวชมซากเรือไททานิก
*ความหวังอันริบหรี่
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากบันทึกภายในของรัฐบาลว่า คณะค้นหาเรือดำน้ำไททันได้ยินเสียงกระแทกทุก ๆ 30 นาทีเมื่อวานนี้และ 4 ชั่วโมงให้หลัง หลังจากที่มีการระดมอุปกรณ์ค้นหาวัตถุเพิ่มเติม ก็ยังได้ยินเสียงกระแทกดังต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบแน่ชัดว่าเสียงกระแทกที่ดังขึ้นเมื่อวานนี้นั้นเกิดขึ้นเมื่อเวลาเท่าไรและยาวนานเพียงใด
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังได้ยินเสียงดังเพิ่มเติมในช่วงคืนวันอังคาร แต่ไม่ได้บรรยายว่าเป็นเสียง “กระแทก”
“เสียงดังเพิ่มเติมจะช่วยในการค้นหาทิศทางของสินทรัพย์บริเวณผิวน้ำและบ่งชี้ว่ายังคงมีความหวังเกี่ยวกับผู้รอดชีวิต” ข้อมูลบันทึกภายในของรัฐบาลระบุ
นอกจากนี้ เครื่องบิน P3 ของแคนาดายังตรวจพบวัตถุสี่เหลี่ยมมุมฉากสีขาวในน้ำ แต่เรือที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถูกถ่ายโอนไปช่วยในภารกิจวิจัยเสียงที่ดังขึ้นแทน
แม้เป็นความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้มีความหวังว่าอาจพบผู้รอดชีวิตในไม่ช้านี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 66)
Tags: SCOOP, Titan, Titanic, เรือดำน้ำ, เรือดำน้ำไททัน, ไททานิก