“ไบเดน” เล็งจัดการความเสี่ยงของ AI ที่มีต่อความมั่นคง-เศรษฐกิจสหรัฐ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐเปิดเผยเมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) ว่า จำเป็นต้องจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีต่อความมั่นคงของชาติและเศรษฐกิจ พร้อมเสริมว่า เขาจะขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ

ปธน.ไบเดนกล่าวในงานอีเวนต์แห่งหนึ่ง ณ เมืองซานฟรานซิสโกว่า “ฝ่ายบริหารของผมได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิและความปลอดภัยของประชาชนอเมริกาไปพร้อมกับปกป้องความเป็นส่วนตัว จัดการกับอคติและข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อให้แน่ใจว่า ระบบ AI นั้นปลอดภัยก่อนที่มันจะถูกปล่อยออกมา”

ในงานดังกล่าว ปธน.ไบเดนได้พบปะกับกลุ่มผู้นำภาคประชาสังคมและผู้สนับสนุน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์

ปธน.ไบเดนกล่าวว่า “ผมต้องการได้ยินจากปากของผู้เชี่ยวชาญโดยตรง”

รัฐบาลหลายประเทศกำลังพิจารณาถึงวิธีการลดความอันตรายอันเกิดจากเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งมีเม็ดลงทุนอย่างมหาศาลและได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากการเปิดตัวแชตจีพีที (ChatGPT) ของโอเพนเอไอ (OpenAI)

ในการประชุมเมื่อวานนี้ของปธน.ไบเดนนั้น มีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย นายทริสตัน แฮร์ริส ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เทคโนโลยีมนุษยธรรม นางจอย บัวแลมวินี (Joy Buolamwini) ผู้ก่อตั้งองค์กรอัลกอริทึม จัสติซ ลีก (Algorithmic Justice League) และนายร็อบ ไรช์ (Rob Reich) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อร่างกฎหมายควบคุมการใช้งานเจเนอเรทีฟเอไอ (generative AI) ซึ่งสามารถสร้างข้อความและรูปภาพได้ และสร้างผลกระทบได้เทียบเท่ากับผลกระทบของอินเทอร์เน็ต

ปธน.ไบเดนยังได้หารือเกี่ยวกับปัญหาของปัญญาประดิษฐ์กับผู้นำโลกคนอื่น ๆ เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึง นายริชี ซูนัค ผู้นำอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลของเขาเตรียมจัดการประชุมสุดยอดระดับโลกครั้งแรกเกี่ยวกับความปลอดภัยของปัญญาประดิษฐ์ในปลายปีนี้ นอกจากนี้ หลายฝ่ายได้คาดการณ์ว่า ปธน.ไบเดนจะหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวร่วมกับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดียระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐด้วย

ทั้งนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป (EU) เห็นพ้องต้องกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับการแก้ไขร่างกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ที่ยื่นเสนอต่อคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ในความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานระดับโลกให้กับการใช้งานเทคโนโลยีกับทุกสิ่งอย่างตั้งแต่โรงงานอัตโนมัติ รถยนต์ไร้คนขับ และแชตบอตต่าง ๆ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top