ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรอง ที่ออกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. … 2. ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … และ 3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับ จะสนับสนุนให้การบังคับใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะมีผบังคับใช้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นี้เกิดผลได้จริง เพื่อเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญ โดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยต้องชำระค่าปรับอย่างเดียว ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ และไม่มีการลงบันทึกในประวัติอาชญากรรม
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังผลักดันให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลบล้างวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. … จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้รู้ว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยหรือไม่ และใครเป็นผู้กระทำความผิด และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พบเห็นว่ามีบุคคลกำลังกระทำความผิดทางพินัย หรือแทบจะไม่มีความสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดทางพินัย และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิจะให้การทันที หรือจะให้ถ้อยคำภายหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ได้ และกำหนดกรอบเวลาให้การพิจารณาและออกคำสั่งปรับเป็นพินัย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยสามารถขยายระยะเวลาได้ ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนในกรณีที่จะฟ้องคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการอย่างช้าไม่น้อยกว่า 45 วัน ก่อนวันที่คดีจะขาดอายุความ
2. ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … เป็นการกำหนดให้การชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ (1) ธนาคาร (2) หน่วยบริการรับชำระเงินที่เป็นของรัฐหรือเอกชน ตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด (3) เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) (4) บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (2) โมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) (6) อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) (7) สถานที่หรือวิธีการอื่นใดที่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกช่องทางหน่วยงานรัฐจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
3. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … เป็นการวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อสื่อสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นใด สามารถขยายเวลาการดำเนินการปรับเป็นพินัยได้ สามารถผ่อนชำระได้ และจำนวนค่าปรับเป็นพินัยต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยกำหนดไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)
Tags: กฎหมาย, ประชุมครม., ร่างกฎหมาย