สถาบันการพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development – IMD) จากสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันโลกประจำปี 2566 (The World Competitiveness Yearbook – WCY) ระบุว่า ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับที่ 30 จากทั้งหมด 64 อันดับ ขยับขึ้น 3 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2565
ทั้งนี้ IMD ได้นำปัจจัย 4 ประการมาคำนวณเป็นคะแนนได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน
- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในอันดับ 16 ขยับขึ้น 18 อันดับจากอันดับที่ 34 ในปีที่แล้ว
- ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ อยู่ที่อันดับ 24 ขยับขึ้น 7 อันดับจากอันดับที่ 31 ในปีที่แล้ว
- ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ อยู่ที่อันดับ 23 ขยับขึ้น 7 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปีที่แล้ว
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อยู่ที่อันดับ 43 ขยับขึ้น 1 อันดับจากอันดับที่ 44 ในปีที่แล้ว
ขณะที่เดนมาร์กติดอันดับ 1 ในรายงานขีดความสามารถในการแข่งขันโลกประจำปีนี้ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา ส่วนอันดับ 2 ได้แก่ไอร์แลนด์ ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับ 11 ในปีที่แล้ว อันดับ 3 ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งขยับลงจากอันดับ 2 ในปีที่แล้ว ส่วนสิงคโปร์ติดอันดับ 4 ซึ่งขยับลงจากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว และอันดับ 5 ในปีนี้ได้แก่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว
ไต้หวันติดอันดับ 6 ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับ 7 ในปีที่แล้ว ฮ่องกงติดอันดับ 7 ในปีนี้ ซึ่งขยับลงจากอันดับที่ 5 ในปีที่แล้ว สหรัฐติดอันดับ 9 ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับ 10 ในปีที่แล้ว ส่วนจีนติดอันดับ 21 ซึ่งขยับลงจากอันดับที่ 17 ในปีที่แล้ว, มาเลเซียติดอันดับ 27 ซึ่งขยับขึ้นจากอันดับ 32 ในปีที่แล้ว, เกาหลีใต้ติดอันดับ 28 ซึ่งขยับลงจาก 27 ในปีที่แล้ว, ญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 35 ซึ่งขยับลงจาก 34 ในปีที่แล้ว และอินโดนีเซียติดอันดับ 34 ซึ่งขยับขึ้นจาก 44 ในปีที่แล้ว
ส่วนลาว, กัมพูชา และเวียดนามไม่ได้รวมอยู่ในการจัดอันดับในปีนี้
** ล่าสุด (18 มิ.ย.) ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2567 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นจากปีก่อน 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25 ของ 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก จากเดิมอยู่อันดับที่ 30 ในปี 2566 อ่านต่อ: ขีดความสามารถแข่งขันไทยไต่ขึ้นอันดับ 25
ส่วนสิงคโปร์ขึ้นอันดับ 1 ในฐานะประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)
Tags: IMD, ภาคธุรกิจ, ภาครัฐ, สถาบันการพัฒนาการจัดการนานาชาติ, เศรษฐกิจ, โครงสร้างพื้นฐาน