สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พันธบัตรเอเชียดึงดูดเงินทุนไหลเข้า (inflow) จากต่างประเทศรายเดือนสูงสุดในรอบ 2 ปีในเดือนพ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังว่านโยบายคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเป็นไปในเชิงรุกน้อยลง
ข้อมูลจากหน่วยงานกำกับดูแลและสมาคมตลาดตราสารหนี้ระบุว่า ชาวต่างชาติแห่ซื้อพันธบัตรเป็นมูลค่าสุทธิ 1.01 หมื่นล้านดอลลาร์ในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย ทำให้ยอดการซื้อพันธบัตรพุ่งสูงสุดเมื่อเทียบเป็นรายเดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564
นางฟิโอนา ลิม นักยุทธศาสตร์ด้านตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศของเมย์แบงก์กล่าวว่า ตลาดพันธบัตรเอเชียไม่รวมจีน (Asia ex-China bonds) อาจได้รับผลประโยชน์ หลังจากเฟดใกล้ยุติวงจรการคุมเข้มนโยบายการเงิน แม้ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุด (terminal rate) ก็ตาม
แม้ว่าเฟดได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแตกต่างจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกันก่อนหน้านี้ แต่ก็บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อยอีก 2 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อจัดการกับความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า เหล่านักลงทุนได้รับแรงผลักดันจากสัญญาณซึ่งบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค แตะระดับสูงสุดแล้ว ซึ่งทำให้มีการคาดหวังว่า ธนาคารกลางต่าง ๆ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ พันธบัตรเกาหลีใต้สามารถดึงดูดเม็ดเงินโดยรวมได้ที่ 8.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564
ส่วนพันธบัตรมาเลเซียและอินโดนีเซียดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศได้ที่ 652 ล้านดอลลาร์และ 500 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ขณะที่พันธบัตรอินเดียและไทยต่างดึงดูดเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติได้ราว 400 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนที่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)
Tags: นโยบายการเงิน, พันธบัตร, สมาคมตลาดตราสารหนี้