ธนาคารลอยด์ส แบงก์เปิดเผยผลสำรวจในวันนี้ว่า กลุ่มผู้ผลิตอาหารของอังกฤษรายงานว่าต้นทุนการผลิตเดือนพ.ค.ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานลดลง และอัตราค่าขนส่งที่ถูกลง ซึ่งช่วยชดเชยค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น
ข้อมูลระบุว่า ต้นทุนค่าจ้างของกลุ่มผู้ผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2 เท่า แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลดลง 21% เมื่อเทียบรายปี เมื่อพิจารณาจากมาตรวัดดัชนีราคาอาหาร (food price index) ของสหประชาชาติ (UN)
นางแอนนาเบล ฟินเลย์ กรรมการผู้จัดการของลอยด์ส แบงก์กล่าวว่า “ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงข้อมูลที่ออกมาไม่สอดคล้องกัน โดยส่วนหนึ่งเกิดจากสัญญาระยะยาวระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก ตลอดจนกระบวนการในห่วงโซ่การผลิต”
ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยว่า เงินเฟ้อที่คำนวณจากราคาอาหารพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2520 ในเดือนเม.ย. ที่ระดับ 19.1% ก่อนที่จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในเดือนพ.ค.
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เทสโก้ ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่คำนวณจากราคาอาหารได้แตะระดับสูงสุดแล้ว ขณะที่บริษัทอื่น ๆ ระบุว่า พวกเขากำลังปรับลดราคาสินค้าจำพวกอาหารและอาหารแช่แข็งบางส่วนลง
นายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ราคาอาหารได้ชะลอและปรับตัวลดลงมามากกว่าที่บรรดาผู้ผลิตคาดไว้
ทั้งนี้ รายงานของลอยด์ส แบงก์ได้จากการวิเคราะห์ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเอสแอนด์พี (S&P) ซึ่งครอบคลุมประมาณ 1,300 บริษัท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)
Tags: ต้นทุน, ธนาคารลอยด์ส แบงก์, ผลสำรวจ, อังกฤษ, อาหาร