สถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ (Reuters Institute for the Study of Journalism) เปิดเผยรายงาน “Digital News Report” ประจำปี 2566 ในวันอังคารที่ 13 มิ.ย. ระบุว่า ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ชาวไทยติดตามข่าวสารผ่านทางติ๊กต๊อก (TikTok) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันวิดีโอสั้นในเครือไบต์แดนซ์จากประเทศจีนมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 30% เท่ากับประเทศเปรู ขณะที่สัดส่วนการใช้ติ๊กต๊อกของคนไทยเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ นั้นอยู่ที่ 51% ซึ่งมากเป็นอันดับสองของโลก ตามหลังเพียงแค่ประเทศเคนยาซึ่งมีสัดส่วน 54%
รายงานระบุว่า เคนยามีสัดส่วนการรับชมข่าวสารผ่านทางติ๊กต๊อกมากเป็นอันดับสองที่ 29% ตามมาด้วยมาเลเซีย 24% แอฟริกาใต้ 22% และฟิลิปปินส์ 21%
ส่วนประเทศที่รับชมข่าวสารผ่านติ๊กต๊อกน้อยที่สุดในโลกในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นได้แก่ เดนมาร์กอยู่ที่ 2% ญี่ปุ่น 3% และเยอรมนี 3%
สำหรับกลุ่มคนที่นิยมติดตามข่าวสารผ่านทางติ๊กต๊อกมากที่สุดในโลกในช่วงหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้นคือกลุ่มคนอายุ 18–24 ปีอยู่ที่ 20% ตามมาด้วยกลุ่มคนอายุ 25–34 ปีอยู่ที่ 14%, กลุ่มคนอายุ 35–44 ปีอยู่ที่ 12%, กลุ่มคนอายุ 45–54 ปีอยู่ที่ 10% และกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 6%
รายงานระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพ.ค. 2566 ของไทยนั้นถูกมองว่าอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับประเทศไทยและเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยการใช้งานติ๊กต๊อกในไทยเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในปีนี้ โดยกลุ่มตัวอย่างราวครึ่งหนึ่ง (51%) ใช้ติ๊กต๊อกเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ และ 30% ใช้ติ๊กต๊อกติดตามข่าวสาร ซึ่งเพิ่มขึ้น 8% จากปีที่ผ่านมา
กลุ่มคนรุ่นใหม่ในไทยนิยมใช้ติ๊กต๊อกกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่ผู้บริโภคข่าวสารกลุ่มอื่น ๆ นั้นติดตามข่าวสารผ่านทางยูทูบซึ่งอยู่ในรูปแบบวิดีโอที่มีความยาวมากกว่าติ๊กต๊อก
ผลสำรวจในปีนี้ยืนยันว่า ชาวไทยนิยมบริโภคข่าวสารผ่านทางออนไลน์มากกว่าการอ่านหรือการฟังแบบเก่า ซึ่งถือเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีแนวโน้มเช่นนี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้สื่อประเภทหนังสือพิมพ์เผชิญความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในการดึงดูดผู้ชมให้เข้าติดตามข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของตนเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)
Tags: TikTok, ชาวไทย, ติ๊กต๊อก, ผลสำรวจ