นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทยในปี 65 อยู่ที่ระดับ 80.46 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี แต่ปรับตัวลดลงจากระดับ 81.10 ในปี 64 โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในภาคกลางอยู่ที่ระดับสูงสุด 81.82 รองลงมา คือ ภาคใต้อยู่ที่ 81.57 ภาคเหนืออยู่ที่ 80.96 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 80.08 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดี
โดยดัชนีฯ ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม
- ด้านเศรษฐกิจ ดัชนีฯ ภาพรวมมีค่าอยู่ที่ 78.26 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง เพิ่มขึ้นจาก 77.31 ในปี 64 โดยภาคใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับสูงสุด 86.71 รองลงมา คือ ภาคกลางอยู่ที่ 81.32 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 79.73 และภาคเหนืออยู่ที่ 70.23 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง โดยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรและแรงงานเกษตรพบว่า รายได้เงินสดสุทธิของครัวเรือนเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดจากนอกภาคเกษตรมากกว่ารายได้เงินสดทางการเกษตร 2.7 เท่า ซึ่งมีสาเหตุจากปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรมีไม่เพียงพอ รวมถึงผลผลิตมีราคาไม่แน่นอน
- ด้านสุขอนามัย ดัชนีฯ ภาพรวมมีค่าอยู่ที่ 99.85 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมากเพิ่มขึ้นจาก 98.77 ในปี 64 โดยภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับสูงสุด 99.96 รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 99.91 ภาคเหนืออยู่ที่ 99.88 และภาคใต้อยู่ที่ 99.54 ซึ่งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ครัวเรือนเกษตรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัย (Food Safety) รวมทั้งมีการเสริมสร้างความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
- ด้านสังคม ดัชนีฯ ภาพรวมมีค่าอยู่ที่ 91.06 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ลดลงจาก 92.64 ในปี 64 โดยภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับสูงสุด 93.70 รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 91.95 ภาคเหนืออยู่ที่ 90.10 ซึ่งเป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ขณะที่ภาคใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ 88.00 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ครัวเรือนเกษตรเป็นครอบครัวขยาย สมาชิกในครอบครัวมีการดูแลซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัว สร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ ส่งเสริมการปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว
- ด้านสิ่งแวดล้อม ดัชนีฯ ภาพรวมมีค่าอยู่ที่ 62.67 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ลดลงจาก 64.49 ในปี 2564 โดยภาคเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับสูงสุด 76.04 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา คือ ภาคกลางอยู่ที่ 61.37 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ภาคใต้อยู่ที่ 58.79 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 56.77 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากปี 2565 มีพื้นที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดิน 1.76 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 2.02 ล้านไร่ ขณะที่สัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลดลงเช่นกัน เนื่องจากภาครัฐโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง
- ด้านการศึกษา ดัชนีฯ ภาพรวมมีค่าอยู่ที่ 50.39 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข ลดลงจาก 56.28 ในปี 64 เนื่องจากสมาชิกครัวเรือนเกษตรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สูงถึง 24.71% ได้รับการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่าภาคบังคับ โดยภาคใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับสูงสุด 57.60 รองลงมา คือ ภาคกลางอยู่ที่ 52.98 ภาคเหนืออยู่ที่ 51.89 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 46.94 ซึ่งค่าดัชนีของทุกภาคสะท้อนถึงการพัฒนาที่อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในแต่ละด้านดังนี้
- ด้านการศึกษา ควรดำเนินการสนับสนุนให้สมาชิกของครัวเรือนเกษตรของประเทศได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรรวมถึงการบริหารจัดการฟาร์ม/แปลงที่ดี
- ด้านสิ่งแวดล้อม ควรดำเนินการส่งเสริมการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม การปลูกสวนป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ สร้างความตระหนักรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ด้านเศรษฐกิจ ควรจัดสรรที่ดินทำกินให้ครัวเรือนเกษตรที่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินน้อย โดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือ และกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมให้ครัวเรือนเกษตรสามารถสร้างรายได้จากหลายแหล่ง หรือใช้แนวทางการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรผสมผสาน และส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนเกษตร เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์สถานภาพทางการเงิน ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย หนี้สินทรัพย์สินต้นทุนการผลิต และสามารถวางแผนการลงทุนทางการเกษตรได้อย่างเป็นระบบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 66)
Tags: ฉันทานนท์ วรรณเขจร, ดัชนีผาสุกเกษตรกร, เกษตรกร