กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า วันนี้เวลา 08:40 น. ตามเวลาประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ที่ละติจูด 15.266 องศาเหนือ ลองจิจูด 96.248 องศาตะวันออก ขนาด 6.0 ความลึก 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.พบพระ จ.ตากประมาณ 289 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 500 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย
แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวทำให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน อาทิ พนักงานในหลายอาคารสูงรู้สึกตึกโยกเยก ประตูแกว่งไปมา เวียนศรีษะ และพนักงานที่ทำงานในตึกสูงย่านสีลมต่างพากันลงมาจากตึกรวมตัวกันที่หน้าอาคาร เพื่อความปลอดภัย
ด้านเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้นครั้งนี้ เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในประเทศที่มีลักษณะการเลื่อนตัวตามแนวระนาบ ผู้ที่อาศัยอยู่บนตึกขนาด 5 ชั้นขึ้นไป ทั่วประเทศ จะรู้สึกถึงแรงสั่นไหวได้บ้าง
นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ดังนี้
– กรุงเทพมหานคร 22 เขต (พื้นที่เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง คันนายาว)
– จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมือง
– จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว
ทั้งนี้ เนื่องจากกรุงเทพมหานคร รองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกล จะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตดังกล่าว รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ได้
จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.256-2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1-5.4 รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 66)
Tags: กรมอุตุนิยมวิทยา, แผ่นดินไหว