สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา SEC Thailand Public Conference ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องจากการประชุม IOSCO ประจำปี 2566 โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล การอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม (inclusive) และไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนบทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
โดยงานสัมมนา SEC Thailand Public Conference จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนจากทั่วโลก เกี่ยวกับพัฒนาการและความท้าทายที่เกิดขึ้นในตลาดทุน ทิศทางการกำกับดูแลในอนาคตภายใต้กระแสวิวัฒนาการของเทคโนโลยี และสถานการณ์ภูมิทัศน์ของตลาดเงินตลาดทุนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประกอบด้วย 4 หัวข้อเสวนา ได้แก่
(1) Vision Quest: New Frontier of Capital Markets and Emerging Trends โดยผู้ร่วมเสวนาเล่าถึงสถานการณ์และแนวโน้มของเทคโนโลยีดิจิทัลในตลาดทุน ซี่งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Tokenization หรือ Generative AI ที่เริ่มถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตลาดทุนเพิ่มขึ้นที่หน่วยงานกำกับดูแลควรพิจารณาหลักการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะความเสี่ยงคล้ายกันภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน (same activities, same risk, same regulatory outcome) โดยต้องพิจารณาความเสี่ยงและปรับปรุงการกำกับดูแลให้เท่าทัน และส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของตลาดทุน โอกาสและความท้าทายที่ผู้เล่นในตลาดทุนเผชิญ
(2) Rebuilding the Future of Finance: Digital Assets & Proof-of-Responsibility เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสาเหตุของวิกฤตสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมแนะแนวทางการป้องกัน ประเด็นหลักในการเสวนาอยู่ที่แนวทางในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลและแนวปฏิบัติที่ดี ความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน โดยผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึงเหตุการณ์สินทรัพย์ดิจิทัลที่ผ่านมามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความเหมาะสมของการบริหารจัดการ เช่น ด้านธรรมาภิบาล และ ความเสี่ยง เป็นต้น การมีกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมจากภาครัฐจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีมาตรฐานและสามารถคุ้มครองผู้ลงทุนได้
(3) Together towards Tomorrow: Capital market as a driving force for a more sustainable and greener world ปัจจุบันมีการดำเนินการเพื่อการยกระดับระบบนิเวศของการเงินที่ยั่งยืน เช่น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (taxonomy) รวมทั้งในแง่การระดมทุนที่มีการสร้างเครื่องมือประเภทใหม่ที่ตอบโจทย์หลากหลายมากขึ้น ซึ่งการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์นั้น ต้องพิจารณาถึงประเด็นความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจและความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐาน การตระหนักถึงผลกระทบจากการไม่ปรับตัวโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กหรือกลาง รวมถึงผลกระทบทางด้านสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนที่เป็นธรรม (just transition) โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ
(4) Investor Resilience: Inclusive and rational investment in the digitalized world ผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการใช้เทคโนโลยีในการปกป้องผู้ลงทุนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นให้แก่ผู้ลงทุน โดยเทคโนโลยีอาจทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยมีแนวโน้มที่จะรับความเสี่ยงจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (take risky trading) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ผู้ลงทุนไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และได้รับข้อมูลจากผู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจด้านการเงินการลงทุนในสื่อสังคมออนไลน์ (finfluencers) ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับในการให้คำแนะนำการลงทุน ทั้งนี้ ผู้เสวนายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้ความรู้ และกระบวนการติดตามตรวจสอบที่ช่วยปกป้องผู้ลงทุนยิ่งขึ้นด้วยการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล
งานสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และภาคเอกชนทั่วโลก รวมจำนวนประมาณ 600 คน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องกับการประชุมของ International Organization of Securities Commissions หรือ IOSCO ครั้งที่ 48 ประจำปี 2566 ซึ่ง ก.ล.ต.เป็นเจ้าภาพจัดประชุมไปเมื่อวันที่ 13-15 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 66)
Tags: ก.ล.ต., ตลาดทุน