RCEP มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบครบทั้ง 15 ประเทศสมาชิกแล้ว หนุนเพิ่มทางเลือกการค้า

RCEP ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยในปี 2565 มีผลบังคับใช้กับสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และเมียนมา และในปี 2566 มีผลบังคับใช้กับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 และล่าสุดกับฟิลิปปินส์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ส่งผลให้มีผลบังคับใช้กับสมาชิกรวม 15 ประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) จึงได้ออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศฉบับใหม่ เพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ดังกล่าว โดยได้รวบรวมประกาศกรมการค้าต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ทั้ง 6 ฉบับไว้ในฉบับเดียว และคงเนื้อหาสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ความตกลงกำหนดไว้เช่นเดิม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการสืบค้นและอ้างอิงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อสมาชิก 15 ประเทศของความตกลง RCEP กฎถิ่นกำเนิดสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSR) ตามพิกัด HS 2022 ระเบียบวิธีปฏิบัติในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP และรูปแบบของ Form RCEP เป็นต้น

นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาชิก RCEP เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยและมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่บังคับใช้แล้วหลายฉบับ โดย RCEP จะช่วยลดความยุ่งยากของการวางแผนการผลิตสินค้าเนื่องจากสามารถใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) เดียวกันกับสมาชิกทั้งหมด

รวมทั้ง RCEP เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีการยกระดับจาก FTA อื่นๆ นอกเหนือจากการค้าสินค้า อาทิ e-Commerce การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกในการค้ายุคใหม่ การส่งเสริมนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ แม้ว่าอัตราภาษี RCEP สำหรับสินค้าบางรายการจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับ FTA อื่นๆ

อย่างไรก็ดี อัตราภาษีจะค่อยๆ ทยอยลดลงเป็นขั้นบันได จนเป็น 0 ในปีที่ 10, 11, 15, 16 หรือ 21 ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65-31 มี.ค. 66 การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP มีมูลค่า 1,299 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่มีการมาขอใช้สิทธิฯ มากที่สุด ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น มูลค่า 642 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ปลาทูน่ากระป๋อง มูลค่า 155 ล้านเหรีญสหรัฐฯ, มันสำปะหลังเส้น มูลค่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐ, ทุเรียนสด มูลค่า 51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, เลนส์ ปริซึม กระจกเงา และวัตถุเชิงทัศนศาสตร์อื่นๆ สำหรับกล้องถ่าย เครื่องฉาย หรือเครื่องขยาย หรือย่อภาพถ่าย มูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ FTA อื่นๆ เพื่อส่งออกไปยังสมาชิก RCEP ได้ แต่หันมาเลือกใช้ RCEP เนื่องจากกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าปลาทูน่ากระป๋องที่ผ่อนปรนกฎถิ่นกำเนิดสินค้ามากกว่า FTA อื่นๆ โดยอนุญาตให้สามารถนำปลาที่เป็นวัตถุดิบสำคัญมาจากประเทศใดก็ได้แม้กระทั่งนอกภาคี รวมถึงการมีผลบังคับใช้ของสมาชิกครบ 15 ประเทศ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสามารถนำวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าจากสมาชิกมาสะสมเป็นเสมือนวัตถุดิบของไทยได้ ทางกรมฯ คาดว่าการใช้สิทธิฯ RCEP จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากข้อดีของความตกลงดังที่ได้กล่าวข้างต้น

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้หันมาใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP โดยขอให้เปรียบเทียบอัตราภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ กฎถิ่นกำเนิดสินค้าและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความตกลงฯ อย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถนำหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า RCEP ไปลดภาษีนำเข้า ณ ประเทศปลายทางได้

นอกจากนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP จะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การขอ Form RCEP ที่ผู้ประกอบการต้องมารับที่กรมการค้าต่างประเทศ และการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Approved Exporter) ที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องการขึ้นทะเบียนและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ.2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2564 ด้วย

“ประกาศกรมการค้าต่างประเทศเกี่ยวกับ Form RCEP ฉบับใหม่นี้ ได้รวบรวมประกาศกรมการค้าต่างประเทศทั้งหมดให้เป็นฉบับเดียว ขอให้ผู้ประกอบการศึกษาและปฏิบัติตามที่ประกาศฉบับนี้กำหนดอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถขอรับ Form RCEP และนำไปใช้ลดภาษีนำเข้าที่ ณ ปลายทาง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางการค้า และสร้างแต้มต่อในเวทีการค้าโลกได้เป็นอย่างมาก” นายรณรงค์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top