โอกาสในการสร้างรายได้ของสื่อในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกันไป สำหรับสื่อไทยและเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซียจะมีหนทางในการหารายได้และสร้างความแตกต่างอย่างไรนั้น หาคำตอบกันได้จากงานสัมมนา “Survival of Online News Providers in the Changing World: ความอยู่รอดของผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในหัวข้อ “New opportunities to earn money that each country is different in terms of developing new formats: โอกาสใหม่ของสื่อในการหาแหล่งเงินทุนที่สร้างความแตกต่างเพื่อพัฒนารูปแบบใหม่”
การพูดคุยในหัวข้อดังกล่าว คุณเชีย ติง ติง (Chia Ting Ting) ผู้บริหารด้านการตลาดมาเลเซียกินี ประเทศมาเลเซีย และคุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ประเทศไทย ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีคุณธันย์ชนก จงยศยิ่ง บรรณาธิการข่าว TNN World รับหน้าที่ดำเนินรายการ
เชีย ติง ติง ผู้บริหารด้านการตลาดมาเลเซียกินี ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากมายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสื่อ นั่นหมายความว่า คนทั่วไปก็สามารถเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ สื่อ หรือนักพูดได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อเฟซบุ๊กเกอร์ (Facebooker), ยูทูปเบอร์(YouTuber) และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) นอกจากนี้ยังมีเหล่าบล็อกเกอร์ที่นำเสนอคอนเทนต์ด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
หากจะกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในมาเลเซียนั้น สามารถแบ่งได้ดังนี้ คือ 1. ทุกคนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่ายผ่านแล็บท็อป และสมาร์ทโฟน 2. คู่แข่ง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการตัดสินใจใช้บริการ และสุดท้าย 3. โฆษณา ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยูทูบหรือเฟซบุ๊ก หรือแม้แต่เกมที่มีโฆษณาแฝงมากมาย ดังนั้นการสร้างตัวตนให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งทางตรง ทางอ้อม ย่อมส่งผลดีกับแบรนด์
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเมือง” เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อสื่อ ไปจนถึงธุรกิจในเชิงพาณิชย์ สำหรับมาเลเซียกินีก่อตั้งขึ้นในช่วงที่ประเทศมาเลเซียได้เริ่มโครงการMultimedia Super Corridor ซึ่งเป็นโปรเจคที่มาเลเซียต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศ ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวมาเลเซียกินีจึงเป็นสำนักข่าวออนไลน์แห่งแรกที่เป็นสื่ออิสระที่นำเสนอข่าวการเมืองเท่านั้น และแน่นอนว่าไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว มาเลเซียกินีจึงได้เปิดรับข้อมูลจากช่องทางต่าง ๆ ปัจจุบันมาเลเซียกินีมีคู่แข่งที่ใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมาก จึงต้องรักษาระดับ และขยายขอบเขตของบริการ เพื่อสร้างที่มาของรายได้ และธุรกิจมากยิ่งขึ้น
มาเลเซียกินีมองว่า สื่อต้องกำหนดกลยุทธ์ ที่ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ กลยุทธ์การวางตำแหน่งหรือจุดยืน เช่น การวางตำแหน่งแบรนด์/สินค้า/ลูกค้า/ผู้รับสาร รวมไปถึงการทำวิจัยทางการตลาดโดยค้นหาความแตกต่างทางการตลาด กลยุทธ์การสื่อสาร คือ การสร้างแผนการสื่อสาร การวางแผนการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น และกลยุทธ์การโฆษณา คือ การผลิตข่าวที่ไม่ใช่การโฆษณา หรือการพัฒนาคอนเทนต์ที่ช่วยจูงใจผู้อ่าน
ทางด้าน คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า เรื่องของ Subscription Model หรือรูปแบบการบอกรับสมาชิกนั้น หากสื่อมีบริการบอกรับสมาชิก จะทำให้สื่อนั้น ๆ มีแหล่งรายได้สำหรับใช้ทุกเดือน โดยไม่ต้องพึ่งพากูเกิ้ลหรือเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตามคำว่า ‘Contents is King’ ก็ยังเป็นจริงเสมอ ทุกคนคงทราบกันดีว่าในปัจจุบันโลกของเราใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ หรือยูทูป หลายคนมองว่าสามารถสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มได้ แต่จริง ๆ แล้วสำหรับผมไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ Data หรือข้อมูล เช่น ในเพจมีคนกดติดตาม กดไลค์ เป็นล้านหรือ 10 ล้านคน แต่ไม่อาจทราบได้เลยว่าใครใน 10 ล้านนั้นดูเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม สำหรับผมคิดว่า ‘Contents is King’ สำคัญและควรเป็นสื่อที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และสามารถเชื่อถือได้”
และตอนนี้ได้มีการทำ Media Lab ในไทย ที่ใช้ชื่อว่า ‘Songsue: ส่องสื่อ’ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์วงการสื่อสารมวลชนในไทย โดยใช้ข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์ และรอบด้าน เพื่อให้ผู้รับข่าวสารรู้ทันสื่อให้มากขึ้นอีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ในด้านเนื้อหาของสื่อ
นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มองว่า ในยุคนี้มีเนื้อหาข่าวที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด คือ Impact หรือผลกระทบ ยกตัวอย่าง ข่าวแผ่นดินไหวที่ประเทศรัสเซีย ในมุมมองของผู้อ่านจะมองว่าเกิดอะไรขึ้นเท่านั้น กลับกันหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ผู้อ่านต้องอยากทราบว่าตนเองจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากน้อยเพียงใด ผู้ที่ทำหน้าสื่อจึงจำเป็นต้องรู้ให้มาก อัปเดตข้อมูลเร็ว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในด้านการดำเนินงานเรายึดถือทฤษฎีบางอย่างเพื่อสร้างรายได้ใหม่ ๆ ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ทำให้คนหันมาใช้โซเชียลมีเดีย และกระตุ้นอุตสาหกรรมสื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่สามารถจ่ายเงินให้สื่อผ่านการรับเนื้อหาในชุมชน เช่น วิดีโอบนแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กและยูทูบ
ทั้งนี้ สิ่งที่สื่อต่าง ๆ ควรคำนึงด้วยเช่นกัน คือ เราต้อสร้างรายได้ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลของเรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อเราสามารถสร้างข้อมูล และสร้างรายได้นั่นหมายถึงคลังข้อมูลจะกลายเป็นสินทรัพย์ของเรา สิ่งนี้จะทำให้เราสามารถสร้างโอกาสในการขาย การโฆษณากับพันธมิตรได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 66)
Tags: SCOOP, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ธันย์ชนก จงยศยิ่ง, มาเลเซีย, ระวี ตะวันธรงค์, สื่อออนไลน์, เชีย ติง ติง