ผลสำรวจชี้ชาวโลกสนใจข่าวในติ๊กต๊อกมากกว่าจากเว็บ-แอปดั้งเดิม

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ (Reuters Institute for the Study of Journalism) ระบุว่า ประชาชนทั่วโลกให้ความสนใจกับสื่อแบบดั้งเดิม (Traditional Media) น้อยลง และหันไปให้ความสนใจกับสื่อโซเชียลมากขึ้น เช่น ติ๊กต๊อก และอินสตาแกรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาว

สถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์เปิดเผยรายงาน “Digital News Report” ประจำปีในวันอังคาร (13 มิ.ย.) โดยระบุว่า จำนวนประชาชนทั่วโลกที่อ่านข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันนั้น ลดลง 10% นับตั้งแต่ปี 2561 โดยประชาชนหันไปให้ความสนใจความเคลื่อนไหวของบุคคลที่มีชื่อเสียง, อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลในแวดวงโซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ติ๊กต๊อก, อินสตาแกรม และสแนปแชท มากกว่าจะให้ความสนใจกับบรรดานักข่าว

ผลสำรวจบ่งชี้ว่า ติ๊กต๊อกเป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด โดยผู้ใช้งาน 20% เป็นประชาชนวัย 18-24 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้ว ขณะเดียวกันพบว่าผู้เข้าร่วมการสำรวจไม่ถึง 50% แสดงความสนใจในข่าวสาร ซึ่งได้ลดลงอย่างมากจากอัตราส่วนผู้สนใจ 6 ใน 10 คนที่มีการสำรวจในปี 2560

“ไม่มีเหตุผลใดที่จะคาดว่า ผู้ที่เกิดในยุค 2000 จะชอบเว็บไซต์ข่าวแบบดั้งเดิม ยิ่งการรายงานข่าวแบบออกอากาศและสิ่งพิมพ์ด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง นั่นเป็นเพราะคนในกลุ่มนี้กำลังเติบโตขึ้น” ราสมัส นีลเซน ผู้อำนวยการสถาบันรอยเตอร์ฯ ระบุในรายงานดังกล่าวซึ่งได้จากการสำรวจประชาชนวัยผู้ใหญ่จำนวน 94,000 คนในตลาดต่าง ๆ 46 แห่งรวมถึงสหรัฐ

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า 56% ของผู้ที่ร่วมการสำรวจกล่าวว่า พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับการแยกแยะความแตกต่างระหว่างข่าวจริงและข่าวปลอมบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2% จากปีที่แล้ว ขณะเดียวกันพบว่า 48% ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจกล่าวว่า พวกเขามีความสนใจอย่างมากกับข่าวสาร ซึ่งลดลงจากระดับ 63% ในการสำรวจปี 2560

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ความน่าเชื่อถือในข่าวลดลง 2% ในปี 2565 หลังจากเพิ่มขึ้นในหลายประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุดของโรคโควิด-19 ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจโดยเฉลี่ย 40% ระบุว่า พวกเขาเชื่อถือในข่าวสารมากที่สุดเกือบตลอดเวลา

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top