การเอาตัวรอดของสื่อท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั้น สื่อแต่ละประเทศมีวิธีการเอาตัวรอดที่แตกต่างกันไป Media Talk ได้รวบรวมไฮไลต์จากงานสัมมนา “Survival of Online News Providers in the Changing World: ความอยู่รอดของสื่อออนไลน์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เพื่อโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อออนไลน์จากประเทศไทย พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว ได้ร่วมพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจสื่อออนไลน์ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ในเซสชั่นการพูดคุยเรื่อง Business Model นั้น วิทยากรทั้ง 3 รายจากบริษัทสื่อออนไลน์ ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดึงดูดผู้ชมหรือผู้อ่านให้ได้อย่างสม่ำเสมอ และขยายฐานผู้ติดตาม
เริ่มด้วยวิทยากรจากประเทศเวียดนาม คุณโด๋ มินทู (Do Minh Thu) ผู้บริหารเวียดนามพลัส ออนไลน์ นิวส์ ( VietnamPlus Online News) สื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักข่าวเวียดนาม นิวส์ เอเจนซี่ (Vietnam News Agency) ได้ยกตัวอย่างการนำไอเดียใหม่ ที่สร้างสรรค์และไม่ซ้ำใครมาใช้ เพื่อดึงดูดผู้ชมและสร้างกระแสไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ตด้วยการเปิดตัว RapsNewsPlus หรือรายการนำเสนอข่าวในรูปแบบของการแร็พ โดยหยิบยกประเด็นที่กำลังเป็นกระแสมาดึงดูดผู้ชมในขณะเดียวกันก็สามารถมอบความบันเทิงไปพร้อมกับการเล่าข่าว
รูปแบบการสร้างสีสันในการนำเสนอข่าวนี้ ได้มีการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังและนักร้องเพลงแร็พในเวียดนาม ซึ่งการชูเอกลักษณ์ที่มีจุดเด่นเช่นนี้ คุณโด๋ มินทู มองว่า จะมีบทบาทสำคัญในแง่ของการแข่งขันกับสำนักข่าวเจ้าอื่นในตลาด โดยทางเวียดนามพลัส จะคิดค้นแนวทางการนำเสนอข่าวรูปแบบใหม่ในลักษณะนี้ทุก ๆ ปี
นอกจากจะสร้างสีสันให้กับการนำเสนอข่าวแล้ว คุณโด๋ ยังได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจาก เวียดนามพลัสมีบุคลากรค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับสำนักข่าวเวียดนามนิวส์เอเจนซี่ ซึ่งเป็นสำนักข่าวใหญ่ของประเทศ AI จะสามารถเข้ามาช่วยในเรื่องของการสร้างคอนเทนต์ รวมไปถึงการจัดการกับข้อมูลเชิงลึกของผู้ชมผ่าน AI และแชตบ็อทที่ได้มีการติดตั้งไว้ในเว็บไซต์เมื่อมีผู้เยี่ยมชมเว็บ เจ้า AI ก็จะวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เยี่ยมชมเว็บให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยให้เวียดนามรู้ได้ว่า กลุ่มผู้ชมหลัก ๆ ของเว็บไซต์ตนเองมีลักษณะเป็นอย่างไร และควรจะใช้ข่าวรูปแบบไหนนำเสนอไปยังกลุ่มผู้ชมเหล่านั้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ รายได้หลักของเวียดนามพลัสจะมาจากบริการบอกรับสมัครสมาชิกเพื่ออ่านข่าวคุณภาพสูงของเว็บไซต์ และทุนจากรัฐบาลเวียดนาม เนื่องจากสำนักข่าวเวียดนาม นิวส์ เอเจนซี่ เป็นสำนักข่าวของรัฐ
สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ คุณโรเซ็ต ซานทิลแลน อเดล (Rosette Santillan Adel) นักเขียนและบรรณาธิการข่าวออนไลน์จาก Philstar.com เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ชั้นนำของฟิลิปปินส์ กล่าวถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลหลังจากยุคโควิด-19 การแข่งขันระหว่างสำนักข่าวกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์ในอินเทอร์เน็ต เนื่องจากในยุคนี้อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ “รู้และเข้าใจความต้องการของผู้ชม” ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นอินฟลูเอนเซอร์จึงกลายเป็นคู่แข่งของสำนักข่าวไปในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ การตอบสนองต่อความต้องการของ Gen Z ก็เป็นหนึ่งในความท้าทาย เนื่องจากกลุ่ม Gen Z ที่มีบทบาทสำคัญในอินเทอร์เน็ตยุคนี้จะมีลักษณะนิสัยและความชอบเสพสื่อที่แตกต่างไปจากกลุ่มเจเนอเรชั่นอื่น ๆ ส่งผลให้สำนักข่าวต้องหันไปใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างติ๊กต๊อก (TikTok) เพื่อดึงดูดผู้ชม Gen Z
คุณอเดล ยังได้ยกตัวอย่างกรณีของรายได้จากบริการรับสมัครสมาชิกเพื่ออ่านข่าวของเวียดนามพลัสมาเปรียบเทียบว่าพฤติกรรมการบริโภคข่าวของชาวฟิลิปปินส์นั้นต่างออกไป โดยชาวฟิลิปปินส์ไม่นิยมการจ่ายเงินเพื่อที่จะอ่านข่าว ทำให้ช่องทางการรับสมัครสมาชิกแบบเสียเงินอาจจะไม่ใช่วิธีการที่จะนำมาใช้ได้ดีในการสร้างรายได้ให้กับสำนักข่าวของฟิลิปปินส์ รายได้หลักของ Philstar.com จึงมาจากค่าโฆษณาเป็นหลัก
Philstar.com พยายามตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันด้วยการเขียนข่าวในลักษณะที่สั้นลง เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น โดยเน้นที่ความกระชับและความรวดเร็วในการทำความเข้าใจ รวมถึงการผลิตคอนเทนต์แบบวิดีโอสั้นเพื่อตอบรับเทรนด์คอนเทนต์แนววิดีโอสั้นที่กำลังมาแรง เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการเนื้อหาที่เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และมีรูปภาพประกอบ คุณอเดลกล่าวว่า “Visualization is King” ดังนั้นรูปภาพและวิดีโอจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการนำเสนอเนื้อหาข่าวของ Philstar.com
ทางด้าน ดร. อเด็ค โรซ่า (Adek Roza Ph.D) ผู้อำนวยการของ Katadata Insight Center องค์กรผู้ให้บริการข้อมูลและสถิติเชิงลึกในประเทศอินโดนีเซีย ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคุณภาพคอนเทนต์ในยุคดิจิทัล โดยผู้ที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้มีคุณภาพขึ้นมานั้นก็คือนักข่าว เพราะข้อมูลดิบหรือข่าวจะไม่สามารถขายตัวเองได้ นักข่าวจะต้องหยิบข้อมูลมาเขียนและนำเสนอออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้ชม ข่าวที่มีคุณภาพสูงอาจจะไม่ดึงดูดผู้ชมได้เท่าข่าวที่มีลักษณะเป็น Clickbait ซึ่งมุ้งเน้นไปที่การล่อความสนใจจากผู้พบเห็นเป็นหลัก แต่การสร้างแรงสั่นสะเทือนให้สำเร็จได้ จะทำให้ข่าวชิ้นนั้นถูกนำไปกล่าวถึง เป็นที่จดจำ หรือได้รับการตอบรับจากหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่รัฐบาลของอินโดนีเซีย เนื่องจากพื้นเพของแวดวงสื่ออินโดนีเซียมีเสรีภาพสูง สามารถวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นใดๆ ได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้ รายได้ และเงินทุนที่พร้อมสนับสนุนนักข่าวก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญสำนักข่าวพึงมี สำหรับ Katadata รายได้หลักนั้นมาจากงานวิจัย แต่ก็มีความท้าทายในแง่ของการที่ต้องเผชิญเรื่องการว่าจ้างบุคลากรเพื่อแข่งขันกับองค์กรอื่น เนื่องจากรายได้ของนักข่าวในประเทศอินโดนีเซียจัดว่าต่ำกว่าตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีการว่าจ้างใน Katadata จึงต้องสร้างสมดุลไม่ให้ลูกจ้างเกิดความสับสนกับฐานรายได้ที่แตกต่างกัน
ในช่วงถาม-ตอบของหัวข้อดังกล่าวได้มีการตั้วคำถามถึงการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี AI ว่า จะส่งผลกับการจ้างงานบุคลากรด้วยหรือไม่ ดร. โรซ่าเชื่อว่า มนุษย์ยังคงมีความสำคัญในเรื่องการเขียนข่าว แม้ว่า AI จะสามารถให้ข้อเท็จจริงหรือสถิติที่แน่นอนได้ แต่การดึงใจความสำคัญหรือจุดมุ่งหมายของข่าวและบทความออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ยังคงเป็นเรื่องของความสามารถเฉพาะตัวที่มนุษย์สามารถทำได้ดีกว่า
คุณอเดลเสริมว่า หน้าที่ของ AI ที่ Philstar.com เลือกใช้ ยังอยู่ในระดับของผู้ช่วย เพราะจำเป็นจะต้องคงสัดส่วนผลงานที่มาจากมนุษย์ไว้เพื่อให้ข่าวออกมาน่าสนใจ เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์ชอบเรื่องราวที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น AI ที่ไม่มีองค์ประกอบด้านความรู้สึกจึงทำหน้าที่นั้นออกมาได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ ตนเองจึงเชื่อว่าบทบาทของ AI ที่มีต่อแวดวงข่าวในปัจจุบัน จะยังไม่ส่งผลกระทบมากในระดับที่จะทำให้นักข่าวตกงาน และอาจจำเป็นต้องใช้เวลาว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปอีกสักพักใหญ่
กรณีของประเทศเวียดนามนั้น คุณโด๋เปรียบเทียบว่าการให้ AI อย่าง ChatGPT ช่วยเขียนข่าวและ AI สามารถเขียนข่าวให้จบได้ภายใน 1 นาที ขณะที่มนุษย์อาจต้องใช้เวลาตรวจสอบเนื้อหาข่าวนั้นอีก 1 ชั่วโมง การใช้ประโยชน์จาก AI สำหรับเวียดนามพลัสไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องทางภาษา หรือข้อเท็จจริงแล้ว จะเป็นการพึ่งพาในแง่ของการรวบรวมหรือจัดระเบียบข้อมูลสถิติมากกว่า อาจกล่าวได้ว่าหากจะหยิบ AI มาทำหน้าที่แทนนักข่าวนั้นสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ควรมีมนุษย์เป็นผู้ตรวจงานของ AI เพื่อขัดเกลาให้เป็นคอนเทนต์ข่าวที่มีคุณภาพในท้ายที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มิ.ย. 66)
Tags: Business Model, Media Talk, SCOOP, สื่อออนไลน์