ยอดผิดนัดชำระหนี้บอนด์ขยะของสหรัฐพุ่งขึ้น เซ่นพิษดอกเบี้ยแพง

สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์รายงานว่า การผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ขยะมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐนั้นได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทที่มีความเสี่ยงจากต้นทุนการกู้ยืมแบบ “ลอยตัว”

โกลด์แมน แซคส์วิเคราะห์ข้อมูลจาก PitchBook LCD. ระบุว่า มีการผิดนัดชำระหนี้ 18 ครั้งในตลาดตราสารหนี้ขยะของสหรัฐในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 พ.ค. คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการผิดนัดชำระหนี้ตลอดทั้งปี 2564 และ 2565 รวมกัน

เฉพาะเดือนพ.ค.เพียงเดือนเดียวมีการผิดนัดชำระหนี้ 3 ครั้งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นตัวเลขรายเดือนสูงสุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรงเมื่อช่วง 3 ปีก่อน

การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวตอกย้ำถึงแรงกดดันที่กลุ่มบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับต่ำและแบกภาระหนี้สินก้อนโตกำลังเผชิญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายคุมเข้มการเงินของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

“เกิดภาวะตื่นตระหนกด้านการชำระเงินในกลุ่มผู้ออกตราสารหนี้ที่อ่อนแอที่สุดในตลาดตราสารหนี้ขยะของสหรัฐ” นายลอตฟี คารุย หัวหน้านักกลยุทธ์สินเชื่อของโกลด์แมน แซคส์ระบุ

บริษัทจำนวนมากที่ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ “ขยะ” นั้น มีหนี้สินชนิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ในระดับสูง โดยอัตราดอกเบี้ยลอยตัวนั้นเคลื่อนไหวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย PitchBook LCD ระบุว่า ในช่วงที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนใกล้จะเหลือ 0% นั้นมีผู้ออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในระหว่างปี 2562–2564 สู่ระดับ 6.15 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ 5-5.25% ในช่วงเวลาเพียงกว่า 14 เดือน ทำให้บรรดาผู้ออกตราสารหนี้เผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตแบบชะลอตัว ซึ่งเสี่ยงที่จะกดดันผลประกอบการธุรกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top