นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และการผลิตสุรา โดยมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model ครั้งที่ 2/2565 ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
1. การจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอล เพื่อให้การอนุญาตนำเอทานอลแปลงสภาพหรือบริสุทธิ์ ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น โดยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน และให้มีการจัดตั้งหน่วยรับรอง เพื่อกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของการผลิตเอทานอลด้วย
2. การจัดทำความตกลงร่วมกัน (MOU) ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล โดยกำหนดรายละเอียดปริมาณเอทานอลที่ต้องส่งมอบ และระยะเวลาอย่างชัดเจน เพื่อเป็นกลไกการจัดซื้อและจัดหาเอทานอลล่วงหน้า ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
3. การแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อกำหนดปริมาณการซื้อขายเอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้า และกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าอัตราพิเศษจากการนำเข้าเอทานอล เพื่อนำมาใช้ในการผลิตเอทิลีนชีวภาพสำหรับสินค้าพลาสติกชีวภาพ ในกรณีที่ผู้ผลิตภายในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน ระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล และไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล
4. การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศ ให้สามารถผลิตเอทานอลที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
5. การออกกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่น ชนิดเอทานอล สามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น การเพิ่มพิกัดอัตราภาษีสำหรับสินค้าเอทิลีนชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการกำกับดูแลและควบคุม การใช้เอทานอลในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่น และกำหนดให้มีอัตราภาษีศูนย์
นายอนุชา กล่าวว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเอทานอล อยู่ที่ 3,123 ล้านลิตร/ปี ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอล อยู่ที่ 1,583 ล้านลิตร แบ่งเป็น เพื่อใช้ในประเทศ 1,579 ล้านลิตร และเพื่อส่งออก 4 ล้านลิตร ซึ่งการผลิตในปัจจุบันยังไม่เต็มกำลัง โดยมีกำลังการผลิตส่วนเกินของเอทานอลประมาณ 1,337 ล้านลิตร ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่
ดังนั้น แนวทางดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมการปรับตัว และพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลให้เกิดความยั่งยืน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อนำเอทานอลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมากด้วย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต คาดว่า ในเบื้องต้นจะมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 450 ล้านลิตร/ปี ซึ่งแนวทางการส่งเสริมเอทานอลชีวภาพในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอล ในการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเอทานอลในประเทศไทย รวมถึงเป็นการเพิ่มตลาดใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกจากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประมาณ 5 ล้านตัน/ปี เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งหากเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นเอทานอลที่มาจากพืช เช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก
โดยกระบวนการปลูกพืช เพื่อนำมาผลิตเอทานอลและนำไปใช้ในการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพเป็นกระบวนการผลิตที่มี Carbon Footprint ต่ำ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร จึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก
นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยสามารถปรับกระบวนการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้ทั้งหมด 5 ล้านตัน จะช่วยสนับสนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตร/ปี ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตมีความมั่นใจในการลงทุนพัฒนาคุณภาพเอทานอลในประเทศให้มีมาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากโอกาสดังกล่าว ที่สำคัญยังเป็นการตอบสนองต่อฉันทามติสากล ในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 66)
Tags: ประชุมครม., อนุชา บูรพชัยศรี, อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ, เอทานอล