บลจ.ทิสโก้แนะชิงจังหวะลงทุนกองทุน H2 กองทุนหุ้นไทย-กองเทคฯสหรัฐและหุ้นจีน

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ ระบุว่าในปี 66 สถานการณ์การลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนสูง ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมโดยภาพรวม อย่างไรก็ธุรกิจกองทุนรวม และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลของบริษัทยังคงมีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร (AUM) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่บริษัทเน้นการจับจังหวะในการออกกองประเภททริกเกอร์ฟันด์มากขึ้น รวมถึงการออกกองทุนใหม่ๆ ที่ครอบคลุมหลากหลายนโยบายการลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 66 บริษัทมีกองทุนรวมภายใต้การบริหารทั้งหมด 160 กองทุน กองทุน แบ่งเป็น กองทุนเปิด (Open-end Fund) 91 กองทุน กลุ่มกองทุนเพื่อการออมเงินระยะยาว ได้แก่ กองทุน SSF RMF LTF และ RMF for PVD จำนวน 60 กองทุน กองทุนทริกเกอร์ 9 กองทุน มูลค่า AUM 54,654 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ที่มี AUM อยู่ที่ 53,696 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลมีมูลค่า AUM อยู่ที่ 72,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ที่มี AUM อยู่ที่ 72,717 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเติบโตของ AUM นอกจากจะเป็นผลของการเสนอขายกองทุนใหม่แล้ว ยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ราคาหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนปรับตัวดีขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลงในปีที่ผ่านมาเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปีนี้ ขณะที่กองทุนหุ้นไทยที่บริหารจัดการโดย บลจ.ทิสโก้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและโดดเด่น สะท้อนจากกองทุนหุ้นไทยกว่า 80% ของบลจ.ทิสโก้ได้รับการจัดอันดับ 4-5 ดาวจาก Morningstar Thailand

สำหรับกองทุนแนะนำครึ่งปีหลังนั้น ในส่วนของหุ้นไทยแนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวหุ้นกลุ่มนี้มีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าหุ้นกลุ่มอื่น และกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว

ส่วนกองทุนต่างประเทศแนะนำลงทุนในกองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ กองทุนหุ้นปันผล และกองทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ

มองเป้าหมาย SET ครึ่งปีหลังที่ 1,600 จุด

นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้บริหารสายงานจัดการกองทุน บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่าการลงทุนตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าดัชนีปรับตัวขึ้นโดยมีเป้าหมายที่ 1,600 จุดแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำและจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ประมาณ 28-30 ล้านคน โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะชัดเจนมากขึ้นจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ

แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเดือนสิงหาคมในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ก็จะเกิดความล่าช้า ซึ่งราคาหุ้นแต่ละอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพื่อสะท้อนผลกระทบด้านบวกและลบจากนโยบายที่ออกมา

“ปีที่แล้วตลาดหุ้นไทยเปรียบเหมือนหลุมหลบภัยสำหรับนักลงทุนทั่วโลก มีกำไรจากกลุ่มพลังงานที่มีการปรับขึ้นราคาทำให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ปีนี้เราไม่ใช่หลุมหลบภัยอีกต่อไปเห็นภาพตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งที่นักลงทุนเริ่มขายหุ้นไทย กลับไปซื้อในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มที่ราคาปรับตัวลงมาเยอะในปีที่แล้ว ทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนในไทยลดลงมาตั้งแต่ต้นปี 66 และจะเห็นการปรับลดลงที่ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/66 เป็นต้นไป “ นายสุรพงษ์วร กล่าว

ดังนั้นการลงทุนหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะเลือกลงทุนในธุรกิจที่ได้ผลดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มที่ราคาปรับตัวลดลงมากจากภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาสะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว เช่น กลุ่มอิเล็คทรอนิกส์บางบริษัท และกลุ่มปิโตรเคมี

สำหรับการลงทุนต่างประเทศ บริษัทมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงในระยะสั้น เป็นโอกาสในการทยอยลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Health care ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งหุ้นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของเงินปันผล (Dividend Growth) เพราะราคาหุ้นที่ยังเหมาะสมและมีความเสี่ยงต่อภาวะการชะลอตัวได้ดีกว่าหุ้นกลุ่มอื่น ๆ

ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ยังคงมีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีโอกาส Upside อีกพอสมควรจากจุดที่มีการปรับฐานลงมา และปัจจัยที่จะสนับสนุนกลุ่มนี้คือ FED แสดงท่าทีหยุดขึ้นดอกเบี้ยหรือมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top