INTERVIEW: AOT ติดปีก กำไรพุ่งเทียบก่อนโควิด เร่งมือขยายสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มั่นใจกำไรปี 67 กลับมาเติบโตสุดใกล้ปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท หลังธุรกิจการบินกลับมาปกติ 100% ขณะเดียวกันเดินหน้าการลงทุนขยายความสามารถสนามบินหลักในการรองรับผู้โดยสารโดยงานแรก จัดงบ 9 พันล้านบาทเร่งขยายอาคารผู้โดยสารด้านตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ (East Expansion) ชงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่อนุมัติปลายปีนี้ ส่วนโครงการขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาทก็เดินหน้าต่อ เพื่อเร่งแก้ปัญหาความแออัดภายในสนามบิน พร้อมรับโอน 3 สนามบินภูมิภาค (กระบี่,อุดรธานี,บุรีรัมย์) ปลายปีนี้อัดงบปรับปรุงเบื้องต้น 2 หมื่นล้านบาท ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ เชื่อมั่นว่ารายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโต 20-30% ตาม Capacity ของสนามบินที่เพิ่มขึ้น

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT ให้สัมภาษณ์กับ”อินโฟเควสท์” ว่า ในปี 66 การกลับมาของผู้โดยสารไต่ขึ้น คาดปีนี้จำนวน 40-50 ล้านคน คิดเป็น 70% ของปี 62 น่าจะกลับสู่โซนกำไร เป็นแนวโน้มที่ดี และในปี 67 ปริมาณผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ 60 ล้านคน ทั้งหมด 6 สนามบินผู้โดยสารเกิน 100 ล้านคน ทั้งรายได้ก็กลับมาปกติ เป็นเรื่องดี กลับมาเติบโตได้ เดิม 61-62 ราว 6.2-6.3 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จาก Aero 55% และ Non AERO 45% ก็ยังมองว่าสัดส่วนไม่เปลี่ยนมาก ทั้งนี้ รายได้โตตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่กำไรในปี 67 จะใกล้เคียงปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 2.5 หมื่นล้านบาท

แนวโน้มในช่วงปี 68-70 เชื่อว่ารายได้เติบโตต่อเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น แต่ขึ้นกับขีดความสามารถท่าอากาศยาน ฉะนั้น AOT จึงเร่งะขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานเป็นสำคัญ ทำให้การเติบโตเกิดเป็น Next S-Curve

“เพราะทุกวันนี้ถึงจุดอิ่มตัว เพราะเต็ม Capacity ดังนั้น สนามบินสุวรรณภูมิขยายขีดความสามารถรองรับได้เพิ่มจาก 60 ล้านคน/ปี เป็น 90 ล้านคน/ปี เราก็จะมี Next S-Curve เกิดขึ้น เมื่อผู้โดยสารโต 30-40% รายได้ก็โตตาม” นายกีรติ กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อปริมาณผู้โดยสารกลับมาปกติ สัญญาต่างๆ เช่นสัญญาเช่าพื้นที่ดิวตี้ฟรี ก็จะกลับมาได้ตามปกติ ก่อนหน้าที่มีการระบาดโควิดไม่สามารถมีรายได้จากส่วนนี้

ส่วน Airport City ทั้งในส่วนพื้นที่แปลง 43 (อยู่ภายในสนามบินสุวรณณภูมิ) และพื้นที่ 723 ไร่(อยู่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ) ที่เคยชะลอการดำเนินโครงการออกไปหลังจากเกิดโควิด แต่ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่เอกชนจะเข้ามาลงทุนทั้ง 2 ส่วน โดยขณะนี้ ทอท. เริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ลงทุน เพื่อหาผู้ลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุน

โดยพื้นที่ 723 ไร่ AOT เตรียมให้เป็นโลจิสติกส์ พาร์ค , ศูนย์ตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โก้ ส่วนพื้นที่แปลง 43 จะเป็นโรงแรม อาคารสินค้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากมีผู้ลงทุนในส่วนนี้ก็จะทำให้รายได้ของ AOT สูงขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นข้อเสนอของเอกชนในปลายปีนี้ หลังจากนั้นปีหน้าจ AOT จะสรุปว่าบริษัทจะลงทุนไปทางไหนในกิจกรรมเชิงพาณิชย์

 

เร่งลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง

 

AOT รู้ถึงปัญหาความแออัดของสนามบินสุวรณภูมิ หลังการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลับมา  ดังนั้นเตรียมเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT1) พื้นที่ 4 แสนตร.ม.ในเดือนก.ย.นี้ ช่วยรองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคน/ปี และในส่วนรันเวย์ 3 คาดเปิดได้ในกลางปี 67 ทำให้ขยายเป็น 90 เที่ยวบิน/ชม.จากปัจจุบัน รองรับได้ 64 เที่ยวบิน/ชม.ก็ทำให้ศักยภาพด้าน Air Side ขยายขึ้นมารองรับได้ 90 ล้านคน/ปี
 
แต่อาคารผู้โดยสาร หรือเทอร์มินัลที่สนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่เปิดให้บริการยังไม่ได้ขยายการรองรับเลย ซึ่งรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่าง Air side กับเทอร์มินัล จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ AOT ที่ต้องเร่งดำเนินการขยายพื้นที่เทอร์มินัลโดยเร็วที่สุด
 
นายกีรติ กล่าวว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่ AOT (24 เม.ย.66) ได้ผลักดันโครงการส่วนต่อขยายทิศตะวันออก (East Expansion) มูลค่าเงินลงทุน 9 พันล้านบาท ที่จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีก 15 ล้านคน/ปี หรือมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมา 20%  และเมื่อรวมกับพื้นที่ SAT1 ก็จะสามารถรองรับผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิเป็น 75 ล้านคน/ปี และ AOT มีแผนพัฒนาขยายสนามบินที่บริหารอยู่อย่างต่อเนื่องเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท
 
นายกีรติ กล่าวต่อว่า ภายในปีนี้ AOT คาดว่าจะปรับแบบโครงการ East Expansion และขออนุมัติจากครม. แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ แล้วจะก่อสร้างโดยเร็วซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือคาดแล้วเสร็จปลายปี 70
แต่ในระหว่างที่รอการก่อสร้างขยายพื้นที่เทอร์มินัล AOT ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้จัดซื้ออุปกรณ์ที่ช่วยในการเช็คอินด้วยตัวเอง (Self Check-In) } Self Bag drop เพิ่มขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยี Biometric การติดตั้ง Auto Gates เพื่อช่วยการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยตั้งเป้ากระบวนการเช็คอิน-ตรวจค้นตม.ใช้เวลาเพียง 50 นาที ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลใน 6 เดือน ซึ่งก็รองรับช่วงไฮซีซั่นในปีนี้ได้
 
นอกจากนี้ AOT มีแผนขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 งบลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารเทอร์มินัลแห่งที่ 3 เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ และรวมอาคารเทอร์มินัลที่ 1 และ 2 สร้างเป็นอาคารใหม่ที่จะใช้รองรับเที่ยวบินในประเทศ ตามปริมาณผู้โดยสารที่เป็นเที่ยวบินในประเทศ 70% เที่ยวบินระหว่างประเทศ 30%

 

เตรียมชงครม.ใหม่อนุมัติรับโอน 3 สนามบินภูมิภาค

 

นายกีรติ กล่าวว่า จากที่รัฐบาลชุดเดิมได้อนุมัติในหลักการให้กรมท่าอากาศยานโอน 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ให้กับ AOT โดยในขณะนี้อยู่กระบวนการ กรมท่าอากาศยานต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการสนามบินทั้ง 3 สนามบินและโอนใบอนุญาตให้กับ AOT คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.-ส.ค.66 จากนั้นก็จะขออนุมัติการรับโอนอีกครั้งกับครม.ซึ่งคาดเป็นรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว

ทั้งนี้เบื้องต้นตั้งงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ที่จะใช้งบปรับปรุงสนามบินทั้ง 3 แห่ง ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องศึกษากันอีกครั้งหลังรับโอนเข้ามาว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร

ปัจจุบัน AOT บริหารสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภุมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top