นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน 2566 ว่า ในกฎหมายไทยมีโทษอยู่ 5 อย่างคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และ ริบทรัพย์สิน แต่การลงโทษแบบกักกันไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ แต่เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “วิธีการเพื่อความปลอดภัย” และไม่ใช่โทษ แต่ติดปัญหาที่ว่าการกักกันจะใช้พื้นที่ใด กรมราชทัณฑ์ จึงได้ออกระเบียบดังกล่าวออกมาใช้ในกรณี เช่น เด็กและเยาวชน ศาลจะสั่งกักกันที่บ้านกับผู้ปกครองได้ เป็นต้น
“หลักการมีแค่นี้ แต่หลายคน เอาเรื่องนี้ไปโยงกับโทษที่นักโทษกลับเข้ามามอบตัว แล้วเอาไปกักกันที่บ้าน ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน ใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากถูกลงโทษ ไม่ใช่ถูกกักกัน” นายวิษณุ กล่าว
กรณีที่เรื่องนี้ถูกโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เตรียมจะเดินทางกลับประเทศไทยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเอามาโยงกัน เพราะได้เคยให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่า นโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม กรณีถ้ามีโทษให้ไปรับโทษโดยกักตัวที่บ้านได้นั้น ยังไม่มีระเบียบออกมา ขณะนี้มีเพียงกระทรวงที่ออกเมื่อปี 2552 สมัยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม
สำหรับคน 3 ประเภท ที่ให้เปลี่ยนไปขังที่บ้านได้ คือ 1.คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 2.คนที่ถูกศาลสั่งจำคุก และรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 และ 3.หญิงมีครรภ์ ที่ศาลสั่งประหารชีวิต แต่ยังไม่คลอดจึงต้องขังไว้ก่อน โดยจะขังที่บ้าน หรือโรงพยาบาลก็ได้
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีการขอพระราชทานอภัยโทษว่า จะเป็นนักโทษการเมือง หรือไม่ใช่นักโทษการเมืองก็ตาม จะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดในการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งในการขอพระราชทานอภัยโทษแบบเป็นการเฉพาะตัวนั้น โดยจะขอเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าถูกยกคำขอ ก็ต้องรอไปอีก 2 ปี จึงจะขอใหม่ได้
แต่หากขอพระราชทานอภัยโทษแบบครอบคลุมนั้น จะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกา แล้วกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ซึ่งกรณีนี้ อาจจะมีขึ้นในปี 67 ช่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ครบ 72 พรรษา
นายวิษณุ ย้ำว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ จะต้องรับโทษก่อนจึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ และการขอพระราชทานอภัยโทษ จะใช้เวลาเท่าไรนั้น สุดแล้วแต่กระบวนการ และไม่มีเวลากำหนดว่าจะต้องรับโทษจำนวนเท่าไร เรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจไม่มีกำหนด แต่หากการขอพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา มีเกณท์คือ ต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 66)
Tags: กรมราชทัณฑ์, การเมือง, ทักษิณ ชินวัตร, วิษณุ เครืองาม