จับตาเงินเฟ้อแนวโน้มขาลง หนุน กนง.คงดอกเบี้ยรอบ ส.ค.

Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง จากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ส.ค.นี้ หลังจากได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันทั้งหมด 150bps สู่ระดับ 2.0% ต่อปี อีกทั้งเพื่อรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค.66 เพิ่มขึ้น 0.53% ชะลอตัวลงจากเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 2.67% ซึ่งถือว่าเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.66 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 27 เดือน ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง และค่ากระแสไฟฟ้าที่ลดลงจากการปรับลดค่า Ft ในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน

Krungthai COMPASS คาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ จากอุปสงค์ที่อ่อนแรงลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดิบดูไบยังแกว่งตัวต่ำกว่าระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล แม้ว่าซาอุดิอาระเบียมีมติลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือน ก.ค.66 แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของปริมาณการผลิตน้ำมันของทั่วโลก จึงคาดว่าผลกระทบยังค่อนข้างจำกัด

“ท่ามกลางอุปสงค์น้ำมันของโลกที่ยังฟื้นตัวช้า อีกทั้งผลของฐานราคาน้ำมันขายปลีกที่สูงในปีก่อน จึงประเมินว่าปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และมีโอกาสติดลบได้ในเดือน มิ.ย.” บทวิเคราะห์ ระบุ

Krungthai COMPASS คาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง อาจเป็นปัจจัยหนุนให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไปช่วงเดือน ส.ค.66 หลังจากที่มีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นติดต่อกันสู่ระดับ 2.0% ต่อปี และเพื่อรอดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลรวมถึงนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าในหมวดพื้นฐานยังทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.06% (MoM) สะท้อนถึงแรงกดดันต่อราคาสินค้าในหมวดเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีอยู่ ตามการส่งผ่านราคาสินค้าของผู้ประกอบการ

“การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพื้นฐาน อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของ กนง. ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% ในช่วงปลายปีได้” บทวิเคราะห์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top