บขส.เร่งปรับ TOR เช่าพัฒนาที่ดิน 2 แปลงหลังไร้เอกชนยื่นข้อเสนอ คาดประมูลใหม่ ก.ค.66

นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า จากที่ บขส.ได้ออกประกาศเชิญชวนบุคคลภายนอกเป็นผู้จัดสร้างและบริหารโครงการพัฒนาพื้นที่จำนวน 2 แห่ง คือ บริเวณแยกไฟฉาย กรุงเทพมหานคร (กทม.) มี 2 แปลง พื้นที่รวม 3 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา และบริเวณ จังหวัดชลบุรี (ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี) มี 3 แปลง พื้นที่รวม 5 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา โดยกำหนดยื่นข้อเสนอและราคา วันที่ 29 พ.ค. 2566 นั้น ปรากฏว่า ทั้ง 2 พื้นที่ ไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอแต่อย่างใด

หลังจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกของทั้ง 2 โครงการ จะนำข้อมูลต่างๆ ที่มีเพิ่มเติม มาพิจารณาดำเนินการปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไข (TOR) การจัดสร้างและบริหารโครงการพัฒนาพื้นที่ ทั้ง 2 แห่งอีกครั้ง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุนยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการเข้ามาลงทุนของเอกชน โดยจะเร่งดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไข TOR ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. นี้และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส. พิจารณา TOR ใหม่ ตั้งเป้าออกประกาศเชิญชวนได้ในเดือนก.ค. 2566

ทั้งนี้ จากการประเมิน เงื่อนไข TOR เดิมกำหนดระยะเวลาเช่าที่ 30 ปี ซึ่งเอกชนอาจจะเห็นว่ายังไม่คุ้มค่าในการเข้ามาลงทุน รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจจะไม่ยืดหยุ่น ดังนั้นการปรับ TOR ใหม่ เบื้องต้น จะยังกำหนดระยะเวลาเช่าที่ 30 ปีตามกฎหมาย แต่จะเปิดโอกาสให้เอกชน เสนอรูปแบบการพัฒนา การลงทุน ผลตอบแทนทั้งกับบขส.และผลตอบแทนคืนกับสังคม รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน เข้ามาให้คณะกรรมการคัดเลือกฯพิจารณาได้ เช่น สัญญาเช่า 30 ปีเมื่อหมดสัญญา แล้วให้สิทธิ์เอกชนรายเดิมเจรจาต่อสัญญาได้อีก เช่น 30 +10 ปี +10 ปี หรือ 30+30 ปี เป็นต้น

“TOR ที่ปรับใหม่จะยืดหยุ่นมากขึ้น และระยะเวลา จะไม่ตายตัว คือ จะเป็นปลายเปิด ให้เอกชนเสนอความเป็นไปได้ ทั้งมิติทางการลงทุน การเงิน ผลตอบแทนทางธุรกิจ ระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งต้องประเมินตัวเลขผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) และ EIRR ให้ครบถ้วน และทางบขส.จะพิจารณาตังเลขเหล่านี้ประกอบ”

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) หรือสายใต้เก่า ติดถนนบรมราชชนนี พื้นที่รวม 15 ไร่ นายสัญลักข์ กล่าวว่า ปัจจุบันใช้พื้นที่ด้านหน้า เป็นจุดจอดรถตู้โดยสารนั้น มีแนวทางคือ จะต้อง ควบรวมโดยนำรถตู้โดยสารไปให้บริการรวมกับสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ บรมราชชนนี (สายใต้ใหม่) ซึ่ง บขส.ได้ยื่นเรื่อง ไปที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ หากได้ความชัดเจนจะเร่งนำพื้นที่ บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า)

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 66)

Tags: ,
Back to Top