การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ท้าทายในหลายอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าในปัจจุบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก ความสามารถของ AI จึงสามารถสร้างกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพสำหรับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อสร้างสภาวะที่ปลอดภัยและเสถียรต่อสินทรัพย์ดิจิทัล
เป็นที่ยอมรับกันว่าในปัจจุบันนี้สินทรัพย์ดิจิทัลยังมีความผันผวนสูง นักลงทุนเสี่ยงต่อการสูญเสียหากขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสม รวมถึงยังต้องเผชิญกับการฉ้อโกง การประมวลผลพลาด รวมถึงรัฐอาจต้องเผชิญกับการฟอกเงิน ธุรกรรมที่ผิดกฎหมายและการสนับสนุนกิจกรรมอาชญากรรมด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
AI จึงอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการการกำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลด้วยการตรวจสอบและป้องกันกิจกรรมที่ไม่ถูกกฎหมายให้ให้สอดคล้องกับกฎหมายต้านการฟอกเงิน (AML) และระบบการรู้จักลูกค้า (KYC)
อัลกอริทึมการเรียนรู้ของ AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และหารูปแบบหรือกิจกรรมที่อาจมีการฉ้อโกงหรือกระทำผิดต่อกฎหมายได้โดยง่ายและทันท่วงที เช่น การวิเคราะห์รูปแบบธุรกรรมที่เฉพาะเจาะจง ที่อยู่ IP และพฤติกรรมของผู้ใช้รายย่อยเพื่อสร้างรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
นอกจากนั้นแล้ว AI ยังมีส่วนช่วยพิจารณา สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนบล็อกเชนเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งโดยปรกติแล้วนักลงทุนหรือผู้ใช้สัญญาอัจฉริยะจะต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในการตรวจสอบสัญญาอัจฉริยะนั้น ๆ ว่าเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ อัลกอริทึม AI จึงสามารถตรวจจับจุดอ่อนและลดความเสี่ยงของการเกิดข้อบกพร่องในการดำเนินงานหรือการละเมิดข้อตกลงหรือกฎหมายได้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกำกับดูแลด้วย AI จึงต้องพิจารณาความสำคัญกับผลกระทบทางจริยธรรมเพิ่มเติมจากอัลกอริทึม AI ที่เป็นระบบหรือตรรกะ ผู้วางโครงสร้างหรือออกแบบควรพิจารณารูปแบบให้มีความหลากหลายปราศจากอคติ รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ เช่น นักฎหมายหรือนักเศรษฐศาสตร์ในออกแบบอัลกอริทึม AI ให้มีผลกระทบที่ไม่คาดคิดให้น้อยที่สุดและให้ความยุติธรรมและความปราศจากข้อผิดพลาด
เมื่อธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงพัฒนาและเพิ่มความสำคัญ จึงมีความจำเป็นในการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยี AI น่าจะเป็นวิธีการที่มีศักยภาพในการจัดการกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การปกป้องนักลงทุน เพิ่มความเสถียรของตลาดและการต่อสู้กับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ป้องกันการฉ้อโกงที่มีประสิทธิภาพและการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมาย
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 66)
Tags: Cryptocurrency, SCOOP, ปัญญาประดิษฐ์, สินทรัพย์ดิจิทัล