“พิธา” รับโอนหุ้นแล้ว ปัดหนีความผิด ลั่นเดินหน้าสู้ความพยายามคืนชีพ ITV

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงการถือหุ้นบมจ.ไอทีวี (ITV) ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาของบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวทางการใช้การตีความเรื่องการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ว่า ได้ตัดสินใจโอนหุ้นบมจ.ไอทีวี (ITV) ซึ่งเป็นมรดกไปให้ทายาทอื่นแล้ว โดยไม่ได้เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด พร้อมมั่นใจว่า ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันในช่วงเวลาปัจจุบันกลับมีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานตน โดยนายพิธา ได้ยกข้อมูลตามแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ ITV เช่น ปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” ปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ”

ส่วนในปีบัญชี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน”

ทั้งนี้ เนื้อหาในหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้แต่อย่างใด โดยงบการเงินปีบัญชี 2565 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 (ก่อนวันเลือกตั้งเพียง 4 วัน)

อย่างไรก็ดี แสดงให้เห็นว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงินและข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความไม่สอดคล้องกัน และเป็นข้อพิรุธที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงิน จากเดิม “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แก้เป็น “สื่อโทรทัศน์” ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็น “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้

ขณะเดียวกัน ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ขอให้ทุกท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่า เป็นคำถามมีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ท่านตอบตัวท่านเอง ว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน ใช่หรือไม่

ด้วยข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ตนตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ตนถือครองหุ้น ITV ซึ่งเป็นมรดกจนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ตนจัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น

นายพิธา ระบุว่า การต่อสู้คดีนี้ เมื่อพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี การพิจารณาว่าบริษัทใดประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ และบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อหรือไม่ ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงหลายองค์ประกอบด้วยกัน ในชั้นนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา และรักษาความเป็นเอกภาพในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนี้ ตนมั่นใจอย่างยิ่งว่า ตนไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

นายพิธา ระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าว ตนมีความมั่นใจว่าก่อนที่ตนจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ ตนมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ตนไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัท ITV จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด

ส่วนกระบวนการถัดจากนี้ ตนขอยืนยันทุกท่านว่า ตนมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด โดยหลังจากนี้ตนจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลให้สำเร็จจงได้ในที่สุด ไม่มีใครหรืออำนาจไหน มาสกัดกั้นฉันทานุมัติของประชาชนที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ถึงกว่า 14 ล้านเสียงได้อีกแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 มิ.ย. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top