ทริสฯ เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร AGE เป็น BBB- หลังโครงสร้างเงินทุนดีขึ้น

ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. เอเชีย กรีน เอนเนอจี (AGE) สู่ระดับ “BBB-” จาก “BB+” ในขณะที่ยังคงแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” การปรับเพิ่มอันดับเดรดิตสะท้อนถึงโครงสร้างเงินทุนที่ปรับตัวดีขึ้นของบริษัท ซึ่งเกิดจากผลประกอบการที่ดีมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนทุนที่ขยายใหญ่ขึ้นของบริษัทนั้นจะเป็นฐานที่แข็งแกร่ง และช่วยต้านทานผลกระทบจากความผันผวนของราคาในช่วงขาลงของตลาดถ่านหินได้

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่ยาวนานในธุรกิจค้าถ่านหินในประเทศไทย ตลอดจนความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในธุรกิจค้าถ่านหินและความสามารถในการบริหารจัดการงานด้านโลจิสติกส์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งด้านเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาถ่านหิน และการกระจุกตัวของลูกค้า รวมถึงความกังวลต่อความต้องการใช้ถ่านหินในระยะยาวจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ทั่วโลก

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– โครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้น ทริสเรทติ้งมองว่าฐานทุนที่ใหญ่ขึ้นของบริษัท ซึ่งสะสมจากกระแสเงินสดระดับสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างเงินทุนของบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ราคาถ่านหินสูงผิดปกตินั้น บริษัทได้ใช้กระแสเงินสดจากผลการดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหลัก ดังนั้น หนี้สินของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยแม้ว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2565

นอกจากนี้ อัตราส่วนด้านเครดิตอื่น ๆ ก็แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในเชิงบวกเช่นกัน โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงจาก 58.4% ในปี 2564 เป็น 52.9% ในปี 2565 ในขณะที่หนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงเหลือ 1.9 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง

ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างทางการเงินของบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้น โดยเห็นได้จากผลประกอบการที่ดีในไตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งนี้ จากสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลดการพึ่งพาเงินกู้สำหรับกิจกรรมการค้าถ่านหิน นอกจากนี้ จากสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าราคาถ่านหินจะปรับตัวลงสู่ระดับปกติ จึงคาดว่าความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทและระดับหนี้สินจะลดลงด้วยเช่นกัน ในขณะที่เงินลงทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับปานกลางในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนทางเครดิตของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ต่ำกว่า 3.0 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิสูงกว่า 20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

– ผลประกอบการดีจากราคาถ่านหินที่สูง บริษัทสามารถจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากราคาถ่านหินที่สูงและมีความผันผวนมากเป็นพิเศษในปี 2565 ได้ดี โดยราคาถ่านหินที่สูงขึ้นนั้นส่งผลให้ปริมาณการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ชะลอตัวลง ปริมาณการจำหน่ายถ่านหินของบริษัทลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยลดลงเหลือ 4.08 ล้านตันในปี 2565 จาก 5.11 ล้านตันในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของบริษัทที่เพิ่มขึ้นถึง 83% ในปี 2565 ช่วยลดผลกระทบจากปริมาณขายถ่านหินที่ลดลงได้

ผลประกอบการของบริษัทดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยบริษัทมี EBITDA อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาทในปี 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจาก EBITDA ในปี 2564 โดยมี EBITDA Margin อยู่ที่ 10.4% ในปี 2565 สูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 8.0% ทั้งนี้ นอกเหนือจากประโยชน์ด้านราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นแล้ว ทริสเรทติ้ง มองว่าความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นนี้ บางส่วนมาจากการจัดการโลจิสติกส์และสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพของบริษัทซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทยังจัดหาผู้จำหน่ายถ่านหินเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มแหล่งซื้อถ่านหินให้มีความหลากหลาย และให้ได้ถ่านหินที่มีราคาดีที่สุดอีกด้วย

อัตรากำไรที่ดีของบริษัทเมื่อรวมกับราคาขายถ่านหินที่สูงขึ้นนั้น ทำให้บริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดที่สูงขึ้น โดยรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อนเป็น 1.88 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้น 88% จากปีก่อนเป็นประมาณ 1.9 พันล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้ที่ 4.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ EBITDA Margin ยังคงอยู่ที่ 10.6%

– มีสถานะธุรกิจที่ยาวนานในธุรกิจค้าถ่านหิน บริษัทเป็นผู้ค้าถ่านหินขนาดกลางในประเทศไทย โดยนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และรัสเซีย เพื่อมาจำหน่ายในประเทศไทย ด้วยความเชี่ยวชาญที่ยาวนานกว่า 20 ปี บริษัทจึงมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ยอดขายของบริษัทในประเทศไทยนั้นยังถือว่ามีปริมาณสูงสุดในประเทศ โดยมียอดจำหน่ายประมาณ 3-5 ล้านตันในระหว่างปี 2561-2565 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทซึ่งเปรียบเทียบจากยอดขายในประเทศไทยของบริษัทต่อยอดนำเข้าถ่านหินทั้งหมดในประเทศไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 17.8% ในปี 2565 เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 11.6% ในปี 2561

– มีความได้เปรียบจากสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ติดกับแม่น้ำและใกล้แหล่งลูกค้า บริษัทมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลักในการประกอบธุรกิจค้าถ่านหินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีส่วนช่วยเรื่องความสามารถในการแข่งขันของบริษัท โดยสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญ ได้แก่ คลังสินค้าขนาดใหญ่ที่สามารถจัดเก็บถ่านหินได้ 1 ล้านตัน ท่าเรือสำหรับลำเลียงถ่านหินที่บริษัทเป็นเจ้าของจำนวน 3 ท่า คลังเก็บสินค้าจำนวน 2 แห่ง โรงคัดแยกถ่านหินจำนวน 5 โรงรวมถึงกองรถบรรทุกและกองเรือลำเลียงแม่น้ำ ทรัพย์สินเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถรองรับคำสั่งซื้อที่มีปริมาณมาก และมีความสามารถในการจำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงงานคัดแยกถ่านหินซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้ารายย่อยได้อีกด้วย เนื่องจากลูกค้าแต่ละรายในกลุ่มนี้มักมีความต้องการถ่านหินที่มีขนาดแตกต่างกันไปตามประเภทของเครื่องจักร

ทำเลที่ตั้งของบริษัทซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสักในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นเอื้อประโยชน์ต่อการค้าถ่านหิน โดยช่วยให้บริษัทสามารถนำเข้าถ่านหินผ่านการขนส่งทางเรือซึ่งมีค่าขนส่งถูกที่สุดได้ นอกจากนี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยายังอยู่ใกล้กับจังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ถ่านหินมากที่สุดด้วยเช่นกัน

– มีความสามารถในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ทริสเรทติ้งมองว่าประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ของบริษัทเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบด้านต้นทุนเหนือผู้ค้าถ่านหินรายอื่น ๆ ในประเทศ ทั้งนี้ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจค้าถ่านหินนั้นค่อนข้างสูงโดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20%-25% ของต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทจึงมีทีมเช่าเรือและทีมโลจิสติกส์ของบริษัทควบคุมดูแลกระบวนการขนส่งถ่านหินทั้งหมดเอง

การดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ของบริษัทเริ่มตั้งแต่การจัดหาเรือเทกองเพื่อขนส่งถ่านหินจากเหมืองในต่างประเทศไปยังเกาะสีชัง จากนั้นจึงใช้การขนส่งทางเรือลำเลียงแม่น้ำเพื่อเคลื่อนย้ายถ่านหินจากเกาะสีชังไปยังท่าเรือของบริษัทที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วจึงใช้การขนส่งทางบกเพื่อขนส่งถ่านหินไปยังโรงงานต่าง ๆ ของลูกค้า ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของบริษัทนั้นมีความแข็งแกร่งขึ้นหลังจากเริ่มนำเข้าถ่านหินผ่านเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น

– มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าและความเสี่ยงด้านราคา โครงสร้างรายได้ของบริษัทมีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายหนึ่ง ทั้งนี้ รายได้ประมาณ 40%-50% ของบริษัทนั้นมาจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศไทยในขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 25%-30% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท

นอกจากนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีแนวโน้มที่จะผันผวนไปในทิศทางเดียวกับราคาถ่านหินในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนจากสินค้าคงคลังหากราคาถ่านหินปรับลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากความเสี่ยงด้านราคาถูกลดทอนลงบางส่วนจากการเร่งหมุนเวียนสินค้าคงคลังของบริษัท และการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายแบบ Back-to-Back กับลูกค้ารายใหญ่

– ข้อจำกัดจากแนวโน้มการลดการปล่อยคาร์บอนจากเชื้อเพลิง สถานะเครดิตของบริษัทถูกจำกัดด้วยแนวโน้มเชิงลบของความต้องการใช้ถ่านหินในระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินยังคงเผชิญต่อความท้าทายหลาย ๆ ด้าน เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น นโยบายการลดคาร์บอนของรัฐบาล การจำกัดการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน รวมถึงการเรียกร้องการใช้พลังงานที่สะอาดจากกลุ่มลูกค้า ปัจจัยเหล่านี้ได้ผลักดันให้ผู้ใช้ถ่านหินเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือก หรือพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการต่อต้านถ่านหินเหล่านี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าศักยภาพการเติบโตของธุรกิจค้าถ่านหินในประเทศไทยของบริษัทน่าจะถูกจำกัด นอกจากนี้ การประกาศแผนการลดการใช้ถ่านหินจากลูกค้ารายใหญ่ของบริษัททำให้เกิดความเสี่ยงในการลดลงของการขายถ่านหินในอนาคตด้วย

– การกระจายสู่ธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับขนส่งสินค้าที่ไม่ใช่ถ่านหิน ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นที่การขยายกองรถบรรทุกของตนเองเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการว่าจ้างบุคคลภายนอก และในขณะเดียวกันก็ใช้กองยานพาหนะเหล่านี้สร้างรายได้จากการให้บริการด้านโลจิสติกส์สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ถ่านหินเพิ่มเติม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 บริษัทมีรถบรรทุกของตนเองจำนวน 106 คัน และตั้งเป้าที่จะเพิ่มอีก 52 คันในปี 2566

แม้ว่าจะรายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์จะมีสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของทั้งหมด แต่บริการด้านโลจิสติกส์ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตที่ดี โดยรายได้เติบโตถึง 13% ในปี 2565 และ 35% ในปี 2564 โดยความสำเร็จในธุรกิจใหม่นี้น่าจะเป็นผลดีต่อสถานะเครดิตของบริษัทจากอัตรากำไรที่ดีขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับการขายถ่านหิน

– กำไรจะกลับคืนสู่ระดับปกติในปี 2566-2567 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ที่สูงเป็นพิเศษของบริษัทจะกลับมาเป็นปกติในอนาคตอันใกล้ โดยการคาดการณ์นี้มาจากมุมมองต่อราคาถ่านหินที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งเกิดจากการกลับมาให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกไปสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง รวมไปถึงปรับตัวดีขึ้นของสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดถ่านหิน ราคาถ่านหินซึ่งอ้างอิงเกณฑ์จากดัชนี Newcastle เริ่มลดลงเมื่อต้นปี 2566 จากประมาณ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนธันวาคม 2565 เป็น 185 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในเดือนพฤษภาคม 2566 หลังจากผ่านช่วงวิกฤตการขาดแคลนพลังงานในปลายปี 2565 ไปแล้ว

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าปริมาณการขายถ่านหินโดยรวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 4.0 ถึง 4.5 ล้านตันต่อปีในช่วงปี 2566-2568 อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้ของบริษัทจะปรับตัวลดลงตามสมมติฐานราคาถ่านหินขาลงของทริสเรทติ้ง จากกลยุทธ์การตั้งราคาขายโดยใช้เปอร์เซ็นต์กำไรที่ค่อนข้างคงที่นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะมีแนวโน้มลดลง โดย EBITDA ของบริษัทในปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาท ก่อนที่จะกลับมาสู่ระดับปกติโดยอยู่สูงกว่า 800-900 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2567-2568

– มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีแหล่งเงินทุนเพียงพอที่จะครอบคลุมการใช้เงินทุนในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้าได้ แหล่งที่มาของเงินทุนของบริษัทประกอบด้วย เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่จำนวน 1 พันล้านบาท และเงินสดในมือจำนวน 226 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 ในขณะเดียวกัน แผนการใช้เงินทุนประกอบด้วยการชำระคืนเงินกู้รวมประมาณ 103 ล้านบาท การลงทุนตามแผนประมาณ 392 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผลอีก 400 ล้านบาท

– โครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 หนี้สินคงค้างของบริษัทซึ่งไม่รวมสัญญาเช่าทางการเงินมีจำนวน 4.4 พันล้านบาท โดยภาระหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้จากธนาคารและทรัสต์รีซีท (Trust Receipt) รวมจำนวน 3.06 พันล้านบาท ดังนั้น อัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้เงินกู้รวมของบริษัทจึงอยู่ที่ระดับประมาณ 69.5% เนื่องจากอัตราส่วนของหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทมีมากกว่า 50% ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้” ของทริสเรทติ้ง ดังนั้น เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทจึงมีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในสิทธิในการเรียกร้องจากสินทรัพย์ของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

– ราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle อยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2566 และ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2567 และ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2568

– ยอดขายถ่านหินอยู่ที่ประมาณ 4-4.5 ล้านตันต่อปีในระหว่าง 2566-2568

– รายได้รวมจะลดลงจาก 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เป็น 1.15 หมื่นล้านบาทในปี 2568

– EBITDA Margin จะอยู่ในช่วง 7%-9%

– เงินลงทุนจะอยู่ที่ 392 ล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 280 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2567-2568

– อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 40%

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของบริษัทจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่กระแสเงินสดและอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทน่าจะสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับอันดับเพิ่มขึ้นอาจเกิดขึ้นได้หากทริสเรทติ้งเห็นว่ากระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญพร้อมทั้งมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งอาจมาจากส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่หรือจากการขายถ่านหินในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจมีสาเหตุมาจากสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเกิดจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธุรกิจ รวมถึงการลงทุนที่ต้องก่อหนี้จำนวนมาก ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ที่สูงกว่า 3.5 เท่าเป็นระยะเวลานานก็อาจจะก่อให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top