นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ปลัดกทม. กล่าวว่า ตั้งแต่หมดฤดูฝนปีที่ผ่านมา กทม. มีการเตรียมการโดยเร่งสำรวจพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมหนัก อาทิ พื้นที่เขตลาดกระบัง ประเวศ สวนหลวง สะพานสูง บางเขน ดอนเมือง หลักสี่ และหาทางไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนในช่วงที่ผ่านมา มีจุดเร่งระบายน้ำที่ใช้เวลาในการระบายประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง ประมาณ 2-3 จุด จากการลงพื้นที่พบแอ่งขนาดเล็ก ที่อาจก่อให้เกิดอุปสรรค 2 เรื่อง คือ 1. ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และ 2. ทำให้การจราจรล่าช้า
วันนี้จึงได้ประชุมเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาวิธีแก้ไขแอ่งเหล่านี้ โดยให้เขตสำรวจจุดที่ลุ่มต่ำ เป็นแอ่งกระทะ มีน้ำขัง หากเขตสามารถดำเนินการแก้ไขได้ให้ดำเนินการในทันที หากเกินกำลังให้ประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการนำอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น ไดโว่ มาช่วยสูบน้ำออก
หากเป็นพื้นที่ของหน่วยงานอื่น อาทิ กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท ให้ประสานไปยังหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไข พร้อมให้เขตรายงานผลการสำรวจและผลการดำเนินการแก้ไขให้สำนักการระบายน้ำรวบรวมต่อไป
นอกจากนี้ ปัจจุบันได้มีการเตรียมแผนพร่องน้ำในคลองต่างๆ ไว้แล้ว ทั้งยังได้มีการกำชับเขตให้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หาพื้นที่แก้มลิงเพื่อรับน้ำ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก้มลิงลงคลอง เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย Best) เข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อาทิ เจ้าหน้าที่ประจำจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เจ้าหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะบริเวณตะแกรง/ ท่อระบายน้ำ/ ผิวจราจร เพื่อเร่งลดระดับน้ำ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่รายงานปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ให้สำนักการระบายน้ำและคณะผู้บริหารทราบทันที หากมีเหตุต้นไม้หรือป้ายโฆษณาโค่นล้มให้เร่งเข้าดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด สำหรับปีนี้คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะลดน้อยลง การดำเนินการอาจมีข้อผิดพลาดบ้างแต่ กทม. จะพยายามทำให้ดีที่สุด
ความพร้อมบริหารจัดการน้ำช่วงหน้าฝนปี 66
– ขุดลอกคลอง สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้รับงบประมาณขุดลอกคลองในปีงบประมาณ 66 จำนวน 9 คลอง ดำเนินการแล้ว 60.13% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.66 ขณะที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ได้รับงบประมาณขุดลอกคลอง 173 คลอง ดำเนินการแล้ว 73.15% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้
– เปิดทางน้ำไหลในคลองที่มีวัชพืชหนาแน่น สนน.ได้เปิดทางน้ำไหล 62 คลอง ดำเนินการได้ครบแล้ว ส่วน 50 สำนักงานเขตเปิดทางน้ำไหล 1,342 คลอง ปัจจุบันดำเนินการได้ 74.04%
– ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ จำนวน 3,758.4 แล้วเสร็จ 2,410.5 กม. คิดเป็น 64.14% โดย สนน.ดำเนินการ 947.2 กม. ใช้แรงงานของหน่วยงาน 45.1 กม. แล้วเสร็จ 92.01% จ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 902.1กม. แล้วเสร็จ 65.16 % ส่วน 50 สำนักงานเขต ดำเนินการ 2,811.2 กม. ใช้แรงงานของหน่วยงาน 958.1 กม. แล้วเสร็จ 88.13% และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 1,853.1 กม. แล้วเสร็จ 51.15% นอกจากนี้ กทม.ได้จ้างเอกชนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเพิ่มเติมใน 13 เขต คาดว่าจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้
– บำรุงรักษาสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 430 แห่ง ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ระบบน้ำมันหล่อลื่น ทำความสะอาด ทาสี เครื่องมืออุปกรณ์ แล้วเสร็จ 409 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือน มิ.ย.66 รวมทั้งบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำแล้วเสร็จ 3 แห่ง
– ซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำและบ่อสูบน้ำทั้งหมดเรียบร้อยแล้วและปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองเตยที่ได้รับมอบจากกรมชลประทาน รวมถึงใช้เทคโนโลยีระบบ SCADA สั่งการทำงานเครื่องสูบน้ำและเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ
– พัฒนาระบบพยากรณ์และการตรวจกลุ่มฝน AI-Nowcasting สามารถพยากรณ์ฝนล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศ กล้องเพื่อดูสภาพอากาศและกลุ่มเมฆ และพัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนน โดยติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนและอุโมงค์ทางลอดรวม 108 แห่ง และจะพัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนเพิ่มอีก 140 แห่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 66)
Tags: กทม., ขจิต ชัชวานิชย์, น้ำท่วม, บริหารจัดการน้ำ, ปัญหาน้ำท่วม, ฝนตก