กนง. รอภาพรัฐบาลใหม่ชัด ก่อนประเมินนโยบายที่จะมีผลต่อศก.ไทย

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยอมรับว่า ในที่ประชุม กนง.ได้มีการหารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการมีรัฐบาลใหม่

โดยคณะกรรมการ กนง.ได้มีการวิเคราะห์ Scenario ต่างๆ ทั้งนโยบายด้านอุปสงค์ และนโยบายด้านอุปทาน เพื่อชั่งน้ำหนักของความเสี่ยงทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะสามารถฟันธงได้ว่าจะมีการหยิบยกนโยบายใดขึ้นมาใช้บ้าง เนื่องจากกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่จบ และยังไม่ชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาลในท้ายสุด ซึ่งแต่ละพรรคต่างก็มีนโยบายที่หลากหลาย ดังนั้น กนง.ขอรอดูความชัดเจนให้มากกว่านี้ก่อน ซึ่งน่าจะเป็นภายหลังจากที่จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว

ส่วนประเด็นที่อาจจะมีความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายปิติ มองว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่จะบ่งบอกว่ามีความผิดปกติ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ และเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาจากปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะส่งผลไปยังการบริโภคภาคเอกชนให้ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศ คือสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่จะมีผลต่อภาคการส่งออกของไทย

“การส่งออกมีน้ำหนักในการผลักดันเศรษฐกิจปีนี้ไม่เยอะ แต่ปัจจัยหลัก มาจากการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ…ส่วนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การมีรัฐบาลใหม่ และความมั่นใจของนักลงทุนนั้น อาจจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้มากกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ต้องดูความชัดเจนในระยะต่อไปด้วย” นายปิติ ระบุ

นายปิติ กล่าวด้วยว่า กนง. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) มาแล้ว 6 ครั้งติดต่อกัน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย และเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะขยายตัวไม่เต็มที่ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความไม่แน่นอนในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นการปรับดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม ก็จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยมีเป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีศักยภาพ และยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top