ค่ายรถพลังงานไฟฟ้าจากเมืองกุ้ยกังของจีนผนึกกำลังรุกตลาดอาเซียน

เขตกังเป่ย เทศบาลเมืองกุ้ยกัง เผยขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการสนับสนุนของเขตกังเป่ยตลอดหลายปีที่ผ่านมาช่วยผลักดันการขยายตัวสู่ตลาดอาเซียน

ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในเขตกังเป่ยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ครบวงจร โดยมีรถมากกว่า 100 รุ่นด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจักรยานไฟฟ้า โมเพดไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าความเร็วสูง อีกทั้งยังครองตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมทั้งในแง่ของอายุแบตเตอรี่ ความปลอดภัย ความชาญฉลาด และการประหยัดพลังงาน

ทั้งนี้ ในปี 2565 มูลค่าการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ในเขตกังเป่ยพุ่งขึ้นถึง 99.3% ขณะที่มูลค่าการผลิตรวมของห่วงโซ่อุตสาหกรรมทะลุ 2.1 หมื่นล้านหยวน

กว่างซีเป็นเขตปกครองตนเองหนึ่งเดียวในจีนที่เชื่อมกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล อีกทั้งยังเป็นทางออกสู่ทะเลที่สะดวกที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ส่วนเมืองกุ้ยกังตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกว่างซี โดยมีการคมนาคมที่สะดวกสบายทั้งทางรถไฟความเร็วสูง ทางด่วน และการคมนาคมทางน้ำคุณภาพสูง อีกทั้งยังมีรถไฟความเร็วสูงกว่า 100 ขบวนเดินทางผ่านเมืองกุ้ยกังทุกวัน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท กว่างซี กุ้ยกัง ฝูส้วย อิเล็กทริก วิฮีเคิล จำกัด และบริษัท พีที. ดีเอฟยู อินเตอร์เนชันแนล อินโดนีเซีย ได้ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่ล็อตแรกจำนวน 20,000 คัน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

คริสตัล หวง ซีอีโอบริษัท พีที. ดีเอฟยู อินเตอร์เนชันแนล อินโดนีเซีย กล่าวว่า เนื่องจากกระแสการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโตทั่วโลก ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จากเขตกังเป่ยของเมืองกุ้ยกังจะส่งผลดีต่อการเดินทางของชาวเมือง รวมถึงการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำทั่วโลก

เมื่อปี 2558 เขตกังเป่ยได้วางแผนสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานใหม่จีน-อาเซียน (China-ASEAN New Energy Electric Vehicle Production Base) ปัจจุบัน ฐานการผลิตดังกล่าวได้ดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำมากกว่า 100 ราย เช่น เอมมา (Emma), ลู่หยวน (Luyuan), ไท่หลิง (Tailg), ลิมา (Lima), ซูบู (Zuboo) และ โอพาย (OPAI) รวมถึงองค์กรธุรกิจอื่น ๆ เช่น ห่าวพ่าย (Haopai) และ เฟยเหนิง (Feineng)

โดยมีองค์กรมากกว่า 50 แห่งที่สร้างโรงงานเสร็จสมบูรณ์และเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันกำลังการผลิตรถสองล้อไฟฟ้าอยู่ที่ 5 ล้านคันต่อปี ส่วนรถสามล้อไฟฟ้าอยู่ที่ 500,000 คันต่อปี และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 5 ล้านชิ้นต่อปี โดยมีอัตราการจับคู่ซื้อขายในท้องถิ่นอยู่ที่ 80% นอกจากนี้ ความหนาแน่นของแบรนด์ผู้ผลิต อัตราการจับคู่ซื้อขายชิ้นส่วน และระดับความชาญฉลาดล้วนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 66)

Tags:
Back to Top