เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง เปิดบริการใหม่ “Reconciliation Service” ช่วยขจัดปมขัดแย้งในครอบครัว

KBank Private Banking เผยอินไซต์ลูกค้ากว่า 15% ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัวอันเนื่องมาจากการจัดการธุรกิจครอบครัวและทรัพย์สินกงสี จึงเป็นที่มาของการนำเสนอบริการใหม่ “Reconciliation Service” หรือบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว เพื่อช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยุติปมความขัดแย้งในครอบครัวโดยผู้เชี่ยวชาญ ชู 3 จุดเด่นของบริการ ได้แก่ รักษาสายสัมพันธ์ครอบครัว ยุติความขัดแย้งในระยะเวลาอันสั้น จัดการกงสีและธุรกิจได้อย่างราบรื่น ชี้ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย หากไม่สามารถไปต่ออย่างยั่งยืนได้ อาจส่งผลกระทบต่อ GDP ประเทศ

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่น และการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจครอบครัว ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงเกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการและวางแผนทรัพย์สินครอบครัวเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง

โดยลูกค้าส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญเรื่องการวางแผนการส่งต่อธุรกิจครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากการที่ทีมงานได้ให้บริการลูกค้ารวมกว่า 4,000 รายหรือประมาณ 790 ครอบครัว พบว่ากว่า 15% ของลูกค้าที่มีความต้องการวางแผนการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว ต้องเผชิญกับปมปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวถึงขั้นสะดุดหยุดลงได้ ซึ่งหากธุรกิจครอบครัวของลูกค้าไม่สามารถไปต่อได้ อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย”

จากรายงานพบว่ากว่า 80% ของ GDP ประเทศไทยมาจากรายได้ของธุรกิจครอบครัวและบริษัทจำนวน 3 ใน 4 ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือกลุ่มธุรกิจครอบครัว ธุรกิจครอบครัวจึงถือเป็นสัดส่วนธุรกิจที่ใหญ่มาก อาจเรียกได้ว่าเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศไทย ดังนั้น การรักษาและส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนจึงถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วยเช่นกัน

“แน่นอนว่าคงไม่มีครอบครัวไหนที่จะเห็นพ้องต้องกันไปเสียทุกเรื่อง ก่อนหน้านี้ KBank Private Banking มีบริการที่จะช่วยลูกค้าในการหาทางออกร่วมกันหรือแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งในอนาคตผ่านการกำหนดกติกาครอบครัวหรือการทำธรรมนูญครอบครัวผ่านบริการ Family Continuity Planning อยู่แล้ว แต่สำหรับลูกค้ากว่า 15% ที่ได้กล่าวมานั้นมีระดับความขัดแย้งที่มากเกินกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันเองได้ เราจึงได้เปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ชื่อ Reconciliation Service หรือบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยใช้หลักจิตวิทยา ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาช่วยลูกค้าให้สามารถยุติข้อพิพาทและหาทางออกร่วมกันเพื่อให้การจัดการกงสีและธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างราบรื่น” นายพีระพัฒน์ กล่าวเสริม

3 จุดเด่นของบริการ “Reconciliation Service” เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยุติปมความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวมีดังนี้

รักษาสายสัมพันธ์ครอบครัว: ความขัดแย้งที่ไม่อาจหาข้อสรุปได้ มักจะถูกยกระดับขึ้นเป็นการฟ้องร้อง ซึ่งจะสร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปถึงจุดนั้น KBank Private Banking จึงนำผู้เชี่ยวชาญในการยุติความขัดแย้งที่มีประสบการณ์สูง ดึงหลักจิตวิทยาเข้ามาช่วยในการเจรจา ทำให้หลายครอบครัวสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดีเอาไว้ได้

ยุติความขัดแย้งในระยะเวลาอันสั้น: ข้อได้เปรียบของบริการ Reconciliation Service คือ การช่วยย่นย่อทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นหากต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเต็มรูปแบบในชั้นศาล โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ให้ความเห็นของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นกลางและครบถ้วน

จัดการกงสีและธุรกิจได้อย่างราบรื่น: เมื่อครอบครัวได้ทางออกในข้อพิพาทแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของ KBank Private Banking สามารถช่วยจัดการวางแผนส่งต่อธุรกิจครอบครัวหรือจัดทำธรรมนูญครอบครัวใหม่ได้ในทันที ทำให้เกิดความราบรื่นและมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน

“เราพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในครอบครัวมักจะหาข้อสรุปได้ยาก เพราะขาดคนกลางในการช่วยไกล่เกลี่ย จึงต้องการมืออาชีพที่ให้ข้อมูลทุกฝ่ายได้อย่างครบถ้วน และมั่นใจว่าจะมีความเป็นกลางไม่โอนเอียงหรือเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การที่ KBank Private Banking เข้ามาให้บริการ Reconciliation Service นอกจากความเข้าใจในบริบทครอบครัวและรูปแบบทรัพย์สินของลูกค้าที่ถือครองอยู่แล้วนั้น ทีมงานจะมีขั้นตอนการตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ของลูกค้า คู่กรณี และ ผู้ไกล่เกลี่ย จึงทำให้หลายครอบครัวเชื่อมั่นในทีมงานและสามารถหาข้อสรุปตามความต้องการของทุกฝ่ายได้” นายพีระพัฒน์ กล่าวสรุป

นอกจากบริการใหม่ Reconciliation Service ซึ่งอยู่ภายใต้บริการในกลุ่ม การสร้างกติกาครอบครัวและการสืบทอดธุรกิจ (Family Continuity Planning) แล้ว KBank Private Banking ยังคงส่งมอบบริการอื่นๆ ซึ่งครอบคลุมทุกความต้องการด้านทรัพย์สินครอบครัวอย่างครบวงจรต่อเนื่อง อาทิ การบริหารความเสี่ยงทรัพย์สินครอบครัว (Financial Asset, Liability and Risk Management) การจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินครอบครัว (Asset Holding Structure), การวางแผนส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น (Inheritance and Wealth Transfer) การทำสาธารณกุศล (Philanthropy) ตลอดจนบริการสำนักงานครอบครัว (Family Office) ปัจจุบันให้บริการลูกค้ารวมกว่า 4,000 รายหรือประมาณ 790 ครอบครัว และมีมูลค่าทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานกว่า 1.8 แสนล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top